0
สมาชิก
ค้นฎีกา
ศาลยุติธรรม
กระทรวงยุติธรรม
สภาทนายความ
กรมที่ดิน
กรมบังคับคดี
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
เกี่ยวกับสำนักงาน บริการของเรา ทนายความ ดาวน์โหลดกฏหมาย ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม
สถิติเว็บไซต์
เปิดเว็บเมื่อ : 2013-01-07
จำนวนสมาชิก : 436 คน
ปรับปรุงเมื่อ : 2024-03-14
จำนวนครั้งที่ชม : 7,508,613 ครั้ง
Online : 63 คน
Photo

    การสร้างโรงเรือนรุกล้ำในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1312


    ทนายกาญจน์
    (Admin)
    เมื่อ » 2018-01-29 15:23:06 (IP : , ,124.122.99.130 ,, Admin)
    การสร้างโรงเรือนรุกล้ำในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1312 และเกิดภาระจำยอมตามมาตรา 1387 มีหลักการอย่างไร
     
    ศึกษาวิเคราะห์จากฎีกาที่ 14354/2557
    ป.พ.พ. มาตรา 146 ส่วนควบ
    มาตรา 1312 สร้างโรงเรือนรุกล้ำโดยสุจริต
    มาตรา 1387 ภาระจำยอม
     
    จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของบ้านที่ปลูกสร้างบนที่ดินที่เช่าจาก ก. ทำสัญญาเช่ากันปีต่อปีต่อมาในปี 2529 ก. ยกที่ดินให้โจทก์ผู้เป็นหลานและ อ. บุตรชาย ต่อมาในปี 2547 โจทก์แบ่งแยกโฉนดที่ดินส่วนที่ ก. ยกให้โจทก์รวมที่ดินปลูกอาคารด้านหลังบ้านของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รื้อถอนส่วนอาคารที่รุกล้ำเข้ามาในเขตที่ดินของโจทก์ ปัญหามีว่า โจทก์ต้องจดทะเบียนที่ดินพิพาทที่มีสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ตกเป็นภาระจำยอมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1312 ตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ ศาลฎีกาพิจารณาปัญหานี้แล้วเห็นว่ามาตรา 1387 บัญญัติว่า “อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น” คดีนี้ บางส่วนของโรงเรือนที่ปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทของโจทก์ปลูกสร้างขึ้นในขณะที่ที่ดินยังเป็นกรรมสิทธิ์ของ ก. ผู้ปลูกสร้างได้ปลูกขึ้นโดยอาศัยสิทธิการเช่าที่ดินส่วนพิพาทจาก ก. เป็นรายปี จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นเพียงเจ้าของกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้าง ไม่ใช่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 139, 146 จึงไม่มีสิทธิเรียกให้โจทก์จดทะเบียนภาระจำยอมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1312
     
    หมายเหตุ
    1. การสร้างโรงเรือนรุกล้ำที่ดินของผู้อื่นตามมาตรา 1312 มีผลดังนี้
    1.1 กรณี สุจริต ผู้สร้างเป็นเจ้าของแต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดินและจดทะเบียนเป็นภาระจำยอม..........
    1.2 กรณี ไม่สุจริต เจ้าของที่ดินมีสิทธิเรียกให้ผู้สร้างรื้อถอนไปโดยให้ทำที่ดินเป็นไปตามเดิม โดยผู้สร้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ให้ศึกษาเพิ่มเติมจากฎีกาต่อไปนี้
     
    คำพิพากษาฎีกาที่ 5637/2536
    ป.พ.พ. มาตรา 1310, 1311, 1312
    ป.วิ.อ. มาตรา 46
    จำเลยที่ 1 ที่ 2 ปลูกบ้านในที่ดินของโจทก์ประมาณร้อยละ 70ส่วนอีกร้อยละ 30 ปลูกอยู่ในที่ดินของจำเลยที่ 1 เมื่อปรากฏว่าโรงเรือนส่วนใหญ่อยู่ในที่ดินของโจทก์ จึงเป็นกรณีปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1310,1311หาใช่เป็นกรณีปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำตามมาตรา 1312 ไม่ การที่จำเลยทั้งสี่ปลูกสร้างบ้านลงในที่ดินของโจทก์ โดยรู้ว่าไม่มีสิทธิเช่นนั้น จึงเป็นการปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินของโจทก์โดยไม่สุจริต ตามมาตรา 1311 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยรื้อถอนบ้านส่วนที่อยู่ในที่ดินของโจทก์ออกไป และจำเลยต้องทำที่ดินให้เป็นตามเดิมแล้วส่งคืนแก่โจทก์โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ในคดีส่วนอาญาศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่มีเจตนากระทำความผิดอาญา หาใช่การกระทำโดยมีเจตนาสุจริตตามความหมายในคดีส่วนแพ่งไม่
     
    คำพิพากษาฎีกาที่ 3680/2528
    ป.พ.พ. มาตรา 1312
    บุคคลที่สร้างโรงเรือนรุกล้ำโดยสุจริตที่จะได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 จะต้องเป็นเจ้าของโรงเรือนที่สร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นและส่วนที่รุกล้ำนั้นจะต้องเป็นส่วนน้อย ส่วนที่อยู่ในที่ดินที่ตนมีสิทธิสร้างต้องเป็นส่วนใหญ่ มิฉะนั้นจะเรียกว่าสร้างโรงเรือนรุกล้ำไม่ได้ ตามฟ้องอ้างว่าโจทก์ปลูกสร้างโรงเรือนของผู้อื่นรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยที่ 1 และบรรยายฟ้องต่อไปว่าโรงเรือนส่วนที่รุกล้ำนั้นเนื้อที่ประมาณ 12 ตารางวา ประมาณครึ่งหนึ่งของโรงเรือนแสดงว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของโรงเรือนที่สร้างรุกล้ำ ทั้งส่วนที่รุกล้ำนั้นมิใช่ส่วนน้อยอันจะเรียกว่ารุกล้ำตามมาตรา 1312 ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1312
     
    2. ส่วนที่รุกล้ำจะต้องเป็นโรงเรือนจึงจะต้องด้วยหลักเกณฑ์มาตรา 1312 ให้ศึกษาจากฎีกาต่อไปนี้
     
    คำพิพากษาฎีกาที่ 634/2515
    ป.พ.พ. มาตรา 5, 1312
    ป.วิ.พ. มาตรา 55, 177
    การสร้างโรงเรือนรุกล้ำที่ดินของผู้อื่นโดยไม่สุจริต หมายความว่า ผู้สร้างต้องรู้ในขณะสร้างว่าที่ดินตรงนั้นเป็นของผู้อื่น หากเข้าใจว่าเป็นที่ดินของตนและสร้างโรงเรือนรุกล้ำไปครั้นภายหลังจึงทราบความจริง ถือว่าเป็นการสร้างโรงเรือนรุกล้ำที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต

    ครัวเป็นส่วนหนึ่งของอาคารโรงเรือน การสร้างครัวรุกล้ำที่ดินของผู้อื่น ย่อมเป็นการสร้างโรงเรือนรุกล้ำที่ดินของผู้อื่นตามกฎหมาย การสร้างโรงเรือนรุกล้ำที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต ผู้สร้างย่อมเป็นเจ้าของโรงเรือนนั้นตามกฎหมาย เจ้าของที่ดินที่ถูกรุกล้ำไม่อาจฟ้องบังคับให้ผู้สร้างรื้อถอนโรงเรือนได้ แม้ผู้สร้างจะมิได้ฟ้องแย้งขอให้บังคับเจ้าของที่ดินนั้นให้จดทะเบียนภารจำยอมก็ตาม
    ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 เฉพาะโรงเรือนที่สร้างรุกล้ำที่ดินของผู้อื่นเท่านั้นที่ได้รับความคุ้มครองสิ่งอื่น ๆ ที่มิใช่โรงเรือน หาได้รับความคุ้มครองด้วยไม่
     
    คำพิพากษาฎีกาที่ 741/2505
    ป.พ.พ. มาตรา 1312, 1341
    ปลูกสร้างเรือนในที่ดินของตน ตัวเรือนไม่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น แต่ชายคาได้รุกล้ำเข้าไปโดยสุจริตนั้น ย่อมเป็นการปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 ไม่ใช่ มาตรา 1341 เพราะมาตรา 1341 หมายถึง ทำหลังคาหรือการปลูกสร้างอย่างอื่นโดยมิได้รุกล้ำที่ดินของคนอื่น แต่เมื่อฝนกตกน้ำฝนได้ไหลลงไปยังที่ดินหรือทรัพย์สินของผู้อื่นซึ่งอยู่ติดต่อกัน (ประชุมใหญ่ที่ 20/2505)
    มาตรา 1312 เป็นบทบัญญัติพิเศษบังคับแก่เจ้าของที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของขณะมีการปลูกสร้างหรือเป็นผู้รับโอนในเวลาต่อมา เจ้าของโรงเรือนมีสิทธิขอให้จดทะเบียนสิทธิเป็นภารจำยอมได้โดยไม่ต้องรอจนเกิน 10 ปี
     
    คำพิพากษาฎีกาที่ 904/2517
    ป.พ.พ. มาตรา 1312, 1382, 1387, 1401
    ที่ดินและอาคารของโจทก์และของจำเลยร่วมอยู่ติดกันโดยต่างรับซื้อมาจากบุคคลอื่นกันสาดของอาคารที่จำเลยร่วมซื้อได้รุกล้ำที่ดินที่โจทก์ซื้ออยู่ก่อนแล้ว ต่อมาจำเลยร่วมได้สร้างห้องน้ำบนกันสาดนั้น อันเป็นการใช้ส่วนแห่งแดนกรรมสิทธิ์ที่ดินของโจทก์เฉพาะที่กันสาดรุกล้ำเข้าไปนั้นสืบต่อจากเจ้าของเดิมโดยจำเลยร่วมมิได้ขออนุญาตต่อผู้ใด ถือได้ว่าจำเลยร่วมได้สร้างห้องน้ำขึ้นโดยสุจริตย่อมได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 และข้อเท็จจริงก็ฟังได้ว่าจำเลยร่วมใช้สิทธิโดยอำนาจปรปักษ์เกินกว่า 10 ปีแล้วกันสาดและห้องน้ำเหนือที่ดินของโจทก์ย่อมตกอยู่ในภารจำยอมโจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องขอให้จำเลยรื้อห้องน้ำบนกันสาดนั้น
     
    3. ถ้าสิ่งที่ปลูกสร้างรุกล้ำไม่ใช่โรงเรือนต้องรื้อถอน ให้ศึกษาจากฎีกาต่อไปนี้
     
    คำพิพากษาฎีกาที่ 951/2542
    พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522
    ป.พ.พ. มาตรา 1312
    ป.วิ.พ. มาตรา 161
    ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312ได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่าสร้างโรงเรือนย่อมหมายถึงสร้างบ้าน สำหรับอยู่อาศัยเท่านั้น ดังนั้น โรงรถ ท่อน้ำประปา ปั๊มน้ำ และแท็งก์น้ำจึงมิใช่โรงเรือนตามความหมายของบทบัญญัติ มาตรานี้ และไม่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของโรงเรือนด้วย แม้จำเลยจะสร้างหรือทำรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์โดยสุจริต ก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1312 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 บัญญัติให้ จดทะเบียนสิทธิเป็นภารจำยอมเฉพาะตัวโรงเรือนที่รุกล้ำเท่านั้น จึงไม่มีผลให้บุคคลผู้สร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดิน ของผู้อื่นได้สิทธิภารจำยอมในที่ดินของผู้อื่นอีก 2 เมตร แม้จะมีข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร กำหนดให้อาคารที่ปลูกใน ที่ดินเอกชนให้ผนังด้านที่มีหน้าต่าง ประตูหรือช่องระบายอากาศ อยู่ห่างเขตที่ดินได้สำหรับชั้นสองลงมาระยะไม่น้อยกว่า 2 เมตร ก็เป็นกรณีที่ผู้ปลูกสร้างอาคารจะต้องปฏิบัติตาม ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่กรณีของจำเลยเป็นการ สร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ข้อบัญญัติดังกล่าว ไม่มีผลให้โจทก์ต้องผูกพันในการกระทำของจำเลย โจทก์จึง ไม่ต้องจดทะเบียนภารจำยอมที่ดินของโจทก์ให้แก่จำเลย เพิ่มขึ้นตามข้อบัญญัติดังกล่าวอีก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 วรรคสองบัญญัติว่า ถ้ามิได้ระบุค่าฤชาธรรมเนียมชนิดใดไว้โดยเฉพาะค่าฤชาธรรมเนียมนั้นให้รวมถึงค่าป่วยการพยาน ค่าทนายความค่าธรรมเนียมในการส่งเอกสารและบังคับคดี และค่าฤชาธรรมเนียมหรือค่าธรรมเนียมอื่น ๆ บรรดาที่กฎหมายบังคับให้เสียดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองให้เป็นพับโดยมิได้สั่งค่าทนายความจึงหมายความรวมถึงค่าทนายความทั้งสองศาลให้เป็นพับด้วย
     
    คำพิพากษาฎีกาที่ 6331/2534
    ป.พ.พ. มาตรา 1312
    ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1312 เฉพาะตัวโรงเรือนที่สร้างรุกล้ำที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่ได้รับความคุ้มครอง สิ่งอื่น ๆ ที่มิใช่โรงเรือนแม้จะสร้างขึ้นโดยสุจริตก็หาได้รับ ความคุ้มครองด้วยไม่ จำเลยจึงต้องรื้อถอนรั้วพิพาทส่วนที่รุกล้ำ ออก ไปจากที่ดินของโจทก์.
     
    คำพิพากษาฎีกาที่ 1511/2542
    ป.พ.พ. มาตรา 4, 204, 1312
    ป.วิ.พ. มาตรา 142
    เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 94068 ของโจทก์และโฉนดเลขที่ 94012 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลย เป็นที่ดินแปลงเดียวกันซึ่งโจทก์ซื้อ มาจากน. โดยมีสิ่งปลูกสร้างอยู่ในที่ดินมาก่อนแล้ว ต่อมาโจทก์นำที่ดินโฉนดเลขที่ 94012 ไปจดทะเบียนจำนองและมีการ บังคับจำนอง ซึ่งต.เป็นผู้ประมูลได้จากนั้นต.ขายที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลย ปรากฏว่าสิ่งปลูกสร้าง บางส่วนคือส่วนหนึ่งของบ้านเลขที่ 17 และรั้วบ้านรุกล้ำที่ดิน โฉนดเลขที่ 94068 ของโจทก์ กรณีจึงไม่เข้า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 เพราะการรุกล้ำมิได้ เกิดจากจำเลยสร้างขึ้น เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้จึงต้องนำมาตรา 1312 ซึ่งเป็นบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับ ตามมาตรา 4 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รื้อส่วนของบ้านเลขที่ 17ที่รุกล้ำ แต่มีสิทธิเรียกเงินเป็นค่าใช้ส่วนแดนกรรมสิทธิ์และดำเนินการจดทะเบียนสิทธิเป็นภารจำยอม เมื่อรั้วบ้าน ที่รุกล้ำนั้นมิใช่การรุกล้ำของโรงเรือนหรือส่วนหนึ่งส่วนใด ของโรงเรือนอันจะปรับใช้มาตรา 1312 ได้ จำเลยจึงต้อง รื้อรั้วบ้านที่รุกล้ำ โจทก์มีคำขอให้จำเลยรื้อสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำออกไป รั้วบ้าน ก็อยู่ในความหมายของสิ่งปลูกสร้างในที่ดินเช่นเดียวกับโรงเรือน การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อรั้วบ้านที่รุกล้ำ จึงหาได้ เป็นการพิพากษาเกินคำฟ้องไม่ แม้ก่อนฟ้องคดีนี้จำเลยยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด แต่เมื่อโจทก์ ฟ้องเรียกค่าใช้ที่ดินจากจำเลยแล้ว จำเลยปฏิเสธไม่ยอมชำระ ค่าใช้ที่ดินแก่โจทก์ ย่อมถือว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัด นับแต่วันฟ้องแล้ว
     
    4. ถ้อยคำในมาตรา 1312 คำว่า โดยสุจริต นั้น ให้ศึกษาจากฎีกาต่อไปนี้
     
    คำพิพากษาฎีกาที่ 553/2520
    ป.พ.พ. มาตรา 1312
    สุจริตตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 หมายความว่าไม่รู้ว่าที่ดินที่ปลูกสร้างโรงเรือนนั้นเป็นของผู้อื่น มิใช่เพราะเจ้าหน้าที่อนุญาตให้ปลูก ปลูกตึกรากฐานรุกล้ำ ต้องรื้อถอนเสา ผนังตึก กันสาดและบาทวิถีที่รุกล้ำ และทำที่ดินให้อยู่ในสภาพเดิม
     
    คำพิพากษาฎีกาที่ 5521/2550
    ป.พ.พ. มาตรา 420, 1312
    การที่จะถือว่าบุคคลหนึ่งปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของบุคคลอื่นโดยสุจริตหรือไม่สุจริตนั้น จะต้องดูในขณะที่ก่อสร้างว่าผู้ก่อสร้างรู้หรือไม่ว่าที่ดินตรงนั้นเป็นของคนอื่น ถ้ารู้ก็ถือว่าก่อสร้างโดยไม่สุจริต แต่ถ้าในขณะที่ก่อสร้างไม่รู้ว่าที่ดินตรงนั้นเป็นของบุคคลอื่นเข้าใจว่าเป็นที่ดินของตนเองจึงสร้างโรงเรือนลงไปครั้นมาภายหลังจึงรู้ความจริงก็ถือว่าเป็นการก่อสร้างรุกล้ำโดยสุจริต
    จำเลยทั้งสองรู้แล้วว่าจำเลยทั้งสองปลูกสร้างอาคารและรั้วรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ในขณะที่เริ่มก่อสร้างแต่เพียงบางส่วน แต่จำเลยทั้งสองยังจงใจก่อสร้างต่อไปจนแล้วเสร็จ ทั้งๆ ที่โจทก์ได้แจ้งให้ทราบก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต เป็นการละเมิดต่อโจทก์
     
    5. เจ้าของโรงเรือนที่รุกล้ำอาจได้ภาระจำยอมโดยอายุความ ให้ศึกษาจากฎีกาต่อไปนี้
     
    คำพิพากษาฎีกาที่ 904/2517
    ป.พ.พ. มาตรา 1312, 1382, 1387, 1401
    ที่ดินและอาคารของโจทก์และของจำเลยร่วมอยู่ติดกันโดยต่างรับซื้อมาจากบุคคลอื่นกันสาดของอาคารที่จำเลยร่วมซื้อได้รุกล้ำที่ดินที่โจทก์ซื้ออยู่ก่อนแล้ว ต่อมาจำเลยร่วมได้สร้างห้องน้ำบนกันสาดนั้น อันเป็นการใช้ส่วนแห่งแดนกรรมสิทธิ์ที่ดินของโจทก์เฉพาะที่กันสาดรุกล้ำเข้าไปนั้นสืบต่อจากเจ้าของเดิมโดยจำเลยร่วมมิได้ขออนุญาตต่อผู้ใด ถือได้ว่าจำเลยร่วมได้สร้างห้องน้ำขึ้นโดยสุจริตย่อมได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 และข้อเท็จจริงก็ฟังได้ว่าจำเลยร่วมใช้สิทธิโดยอำนาจปรปักษ์เกินกว่า 10 ปีแล้วกันสาดและห้องน้ำเหนือที่ดินของโจทก์ย่อมตกอยู่ในภารจำยอมโจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องขอให้จำเลยรื้อห้องน้ำบนกันสาดนั้น
     
    คำพิพากษาฎีกาที่ 5238/2546
    ป.พ.พ. มาตรา 1382, 1401
    จำเลยสร้างฐานรากของโรงเรือนซึ่งเป็นส่วนที่ฝังอยู่ใต้ดินรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์โดยมีเจตนาเพื่อซ่อนเร้นปกปิดการกระทำที่ไม่ชอบของตน จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินส่วนที่รุกล้ำของโจทก์โดยเปิดเผยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ประกอบมาตรา 1401 แม้จะมีการครอบครองมานานเท่าใด จำเลยก็ไม่ได้สิทธิภารจำยอมในที่ดินดังกล่าว


    Please login for write message