0
สมาชิก
ค้นฎีกา
ศาลยุติธรรม
กระทรวงยุติธรรม
สภาทนายความ
กรมที่ดิน
กรมบังคับคดี
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
เกี่ยวกับสำนักงาน บริการของเรา ทนายความ ดาวน์โหลดกฏหมาย ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม
สถิติเว็บไซต์
เปิดเว็บเมื่อ : 2013-01-07
จำนวนสมาชิก : 438 คน
ปรับปรุงเมื่อ : 2024-04-17
จำนวนครั้งที่ชม : 7,604,853 ครั้ง
Online : 55 คน
Photo

    คดีเปิดทางจำเป็น หรือที่ตาบอด


    ทนายกาญจน์
    (Admin)
    เมื่อ » 2018-01-29 18:24:48 (IP : , ,124.122.99.130 ,, Admin)
    คดีเปิดทางจำเป็น หรือที่ตาบอด
     
        ที่ดินตาบอด ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมรอบอยู่ จนไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ หรือออกได้ลำบากมาก เพราะต้องข้ามสระ บึง ทะเลหรือที่สูงชัน กฎหมายบัญญัติให้เจ้าของที่ดินที่ถูกล้อม มีสิทธิฟ้องขอเปิดใช้ทางออกในที่ดินของผู้อื่นที่ล้อมรอบอยู่ได้เท่าที่จำเป็น โดยต้องเสียค่าทดแทน
     
    ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง
     
    มาตรา 1349 ที่ดินแปลงใดมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่ จนไม่มีทางออกถึงสาธารณะได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้
     
        ที่ดินแปลงใดมีทางออกได้ แต่เมื่อต้องข้ามสระ บึง หรือ ทะเล หรือมีที่ชันอันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมากไซร้ ท่านว่าให้ใช้ความในวรรคต้นบังคับ
     
        ที่และวิธีทำทางผ่านนั้น ต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่าน กับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้ ถ้าจำเป็นผู้มีสิทธิจะผ่านจะสร้างถนนเป็นทางผ่านก็ได้
     
        ผู้มีสิทธิจะผ่านต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่ เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น ค่าทดแทนนั้น นอกจากค่าเสียหายเพราะสร้างถนน ท่านว่าจะกำหนดเป็นเงินรายปีก็ได้
     
    มาตรา 1350 ถ้าที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกัน เป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางตามมาตราก่อน ได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกัน และไม่ต้องเสียค่าทดแทน
     
    การได้มาซึ่งทางจำเป็น มีองค์ประกอบดังนี้
     
    1 ต้องเป็นที่ดินที่มีแปลงอื่นล้อมอยู่
     
    2 ที่ดินไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ หรือมีแต่ไม่สะดวก เช่น ข้ามบึง ทะเล หรือที่สูงชัน เป็นต้น
     
    3 ใช้ออกสู่ทางสาธารณะอย่างเดียว
     
    โดยการขอทางจำเป็น ต้องสมควรแก่ทางจำเป็น และทำให้เกิดความเสียหายแก่ที่ดินแปลงอื่นที่ล้อมอยู่ให้น้อยที่สุด
    ความหมายของทางสาธารณะ
     
    1 ทางสาธารณะที่ชัดเจน ระบุไว้ในโฉนด
     
    2 ไม่มีระบุในโฉนดว่าเป็นทางสาธารณะ แต่ประชาชนใช้ร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ ถือเป็นสาธารณะโดยปริยายหรือโดยสภาพ
     
     ทางจำเป็นมีได้ในกรณี
     
    1 โดยบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่ต้องไปจดทะเบียน
     
    2 โดยนิติกรรมสัญญา แล้วแต่เจ้าของที่ดินจะตกลงกัน
     
    3 โดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นนั้น
     
     กรณีแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกัน เป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่สาธารณะ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดิน ตามมาตรา 1349 ได้เฉพาะที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกัน และไม่ต้องเสียค่าทดแทน
    ประเด็น ความกว้างของที่ดินที่จะขอเปิดทาง
     
    ส่วนใหญ่ศาลจะกำหนดไว้ประมาณ 1.5 - 3.5 เมตร (ตามแต่ความจำเป็นของผู้ขอเปิดทางจะสามารถนำสืบได้)
     
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6930/2540
     
        ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ที่ระบุให้ที่ดินแปลงใดที่มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้นั้น มิได้มีบทบัญญัติว่าทางจำเป็นต้องเชื่อมต่อกับทางสาธารณะโดยตรงความมุ่งหมายที่สำคัญคือให้ที่ดินถูกล้อมอยู่นั้นมีทางออกถึงทางสาธารณะได้เท่านั้น ได้ความว่าหากโจทก์ผ่านที่ดินของจำเลย โจทก์สามารถไปตามทางจนในที่สุดถึงทางสาธารณะได้ เช่นนี้ที่ดินของจำเลยย่อมเป็นทางจำเป็นแม้จะฟังว่าเมื่อผ่านที่ดินของจำเลยแล้วจะต้องผ่านที่ดินของบุคคลอื่นอีก แต่บุคคลอื่นซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงอื่นก็มิได้ร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วมเพื่อโต้แย้งสิทธิของโจทก์คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าเจ้าของที่ดินแปลงอื่นยินยอมให้โจทก์ผ่านหรือไม่ เมื่อที่ดินของโจทก์กับที่ดินของจำเลยเป็นที่ดินที่แบ่งแยกมาจากที่ดินแปลงเดียวกัน และที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินในที่ดินที่แบ่งแยกได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350
     
        ที่ดินของจำเลยเป็นถนนซอยเชื่อมกับถนนสายอื่นในหมู่บ้าน รถยนต์สามารถแล่นเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้ โจทก์ขอผ่านเป็นทางจำเป็นซึ่งเป็นทางที่ใกล้ทางสาธารณะที่สุดและเกิดความเสียหายแก่จำเลยน้อยที่สุด เพราะที่ดินของจำเลยมีสภาพเป็นถนนเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยภายในหมู่บ้านผ่านเข้าออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว ส่วนความจำเป็นของโจทก์ผู้มีสิทธิจะผ่านนั้น แม้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในเรื่องทางจำเป็น ถ้าจำเป็นผู้มีสิทธิจะสร้างถนนเป็นทางผ่านก็ได้ มิได้จำกัดให้ใช้เฉพาะทางเดินด้วยเท้าแต่อย่างเดียว ทั้งตามสภาพความจำเป็นของคนที่อยู่อาศัยในหมู่บ้าน ย่อมต้องมีรถยนต์เป็นยานพาหนะ ฉะนั้นที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยรื้อรั้วในที่ดินของจำเลย เพื่อเปิดเป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินของโจทก์กว้างแปลงละ 3.5 เมตร จึงเหมาะสมแล้ว
     
     ประเด็น ขนาดที่เหมาะสมสำหรับรถยนต์เข้าออกคือ 2.5 เมตร
     
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6229/2551
     
        การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนดให้จำเลยเปิดทางกว้าง 2.50 เมตร นั้น ก็เพื่อที่จะให้โจทก์ได้ใช้รถยนต์ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในปัจจุบันแล่นเข้าออกได้โดยสะดวก การที่จำเลยจะขอให้เปิดทางให้โจทก์กว้างเพียง 2 เมตร ย่อมทำให้รถยนต์ผ่านเข้าออกได้ไม่สะดวกรวดเร็วซึ่งเป็นการไม่เหมาะสมแก่สภาพการณ์และความเจริญของบ้านเมืองในปัจจุบันที่ต้องการความรวดเร็ว การกำหนดให้จำเลยเปิดทางพิพาทซึ่งเป็นทางจำเป็นมีขนาดกว้าง 2.50 เมตร เพื่อให้รถยนต์ผ่านเข้าออกได้จึงน่าจะเหมาะสมแล้ว
     
     ประเด็น การกำหนดค่าเสียทดแทน ประมาณ 75% ของราคาประเมินที่ดิน
     
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3758/2543
     
        การเรียกร้องเอาทางจำเป็นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350 เป็นกรณีที่มีการแบ่งแยกหรือแบ่งโอนที่ดินกันจนเป็นเหตุให้ที่ดินแปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ หมายความว่า ที่ดินแปลงเดิมก่อนแบ่งแยกมีทางออกไปสู่ทางสาธารณะและการแบ่งแยกเป็นเหตุให้แปลงที่แบ่งแยกแปลงใดแปลงหนึ่งออกไปสู่ทางสาธารณะไม่ได้ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นจึงมีสิทธิเรียกร้องเอาทางจำเป็นได้เฉพาะที่ดินแปลงที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันโดยไม่ต้องเสียค่าทดแทน
     
        เมื่อที่ดินโจทก์ตกอยู่ในที่ล้อม โจทก์ย่อมได้รับการคุ้มครองถึงการใช้ยานพาหนะผ่านทางในสภาพที่เป็นถนนได้ มิได้จำกัดเฉพาะให้ใช้ทางเดินได้ด้วยเท้าแต่อย่างเดียว และตามสถานการณ์ความเจริญของบ้านเมืองในปัจจุบันรถยนต์เป็นพาหนะที่จำเป็น และที่พิพาทอยู่ห่างถนนประมาณ 200 เมตร เป็นพื้นที่มีความเจริญมีอาคารสูงหลายอาคารและ ห่างจากย่านการค้าเพียง 500 เมตร หากจะมีการพัฒนาที่ดินเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดและเป็นการพัฒนาบ้านเมืองไปสู่ความเจริญแล้ว สมควรที่จะเปิดทางเพื่อให้รถยนต์ผ่านเข้าออกได้
     
        โจทก์ฟ้องขอให้เปิดทางภาระจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 8822 และเป็นทางจำเป็นสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 7178 ของโจทก์ที่ถูกที่ดินแปลงอื่นปิดล้อมและไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ เป็นคำฟ้องให้ศาลเลือกวินิจฉัยเอาจากพยานหลักฐาน เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นแล้ว ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปอีกว่าทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมหรือไม่
     
        โจทก์เป็นผู้มีสิทธิจะผ่านที่ดินของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่จำเลย ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น ซึ่งค่าทดแทนดังกล่าวไม่ใช่ค่าซื้อที่ดิน เมื่อคำนึงกับความเจริญและความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ประกอบกับความเสียหายที่จำเลยได้รับแล้ว สมควรกำหนดค่าทดแทนความเสียหายให้จำเลยเท่ากับร้อยละ 75 ของราคาประเมิน
     
     ประเด็น กรณีแบ่งกันทอดๆ ไม่ต้องเสียค่าทดแทน
     
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3484/2548
     
        ที่ดินของจำเลยและของ บ. เป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินของโจทก์ แม้จะแบ่งแยกออกจากที่ดินของโจทก์ เป็นของ บ. ก่อนแล้วจึงแบ่งแยกที่ดินของ บ. เป็นของจำเลยภายหลัง ก็ไม่ทำให้ที่ดินของจำเลยไม่ใช่ที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินของโจทก์มาแต่เดิมแต่อย่างใด ถือว่าที่ดินของโจทก์และจำเลยเป็นที่ดินที่มีการแบ่งแยกหรือแบ่งโอนมาจาก ที่ดินแปลงเดียวกัน เป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เปิดทางพิพาท เป็นทางจำเป็นผ่านที่ดินของจำเลยออกสู่ทางสาธารณะได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350
     
     ผู้มีสิทธิฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็น
     
    1 เจ้าของที่ดินซึ่งถูกปิดล้อมเท่านั้น ผู้เช่าหรือเจ้าของบ้าน ไม่มีสิทธิ
     
    2 บุคคลผู้มีสิทธิใช้ทางจำเป็น
     
    3 ผู้รับโอนที่ดินซึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ
     
    4 เจ้าของที่ดินจดคลองตื้นเขินประชาชนไม่สามารถใช้เป็นทางสัญจรไปมานานแล้วทางอื่นออกไม่ได้ จึงใช้ทางจำเป็นผ่านที่ล้อมได้
     
     การดำเนินคดี : ถือว่าเป็นคดีมีข้อพิพาท จึงต้องทำเป็นคำฟ้อง และเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท
     
     ประเด็นข้อพิพาท
     
    1 ทางที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยเปิดนั้นเป็นทางจำเป็นหรือไม่
    2 โจทก์มีความจำเป็นต้องใช้ทางผ่านที่ดินของจำเลยออกสู่ทางสาธารณะ กว้าง....เมตร ได้ตามฟ้องหรือไม่ หรือปัญาทางพิพาทมีความกว้างเพียงใด
     
    3 จำเลยสมควรได้รับค่าทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่ที่มีเหตุที่มีทางผ่านเพียงใด
    โจทก์มีหน้าที่นำสืบก่อน
     
    ข้อแนะนำเพิ่มเติม
    1 ทางจําเป็น ตามมาตรา 1349 ต้องใช้ค่าทดแทน แต่การเสนอคำฟ้องขอให้เปิดทางจําเป็น ไม่จําต้องเสนอชดใช้ค่าทดแทนแก่จำเลยก่อน
     
    2 ทางจําเป็นไม่ต้องจดทะเบียน เป็นทรัพยสิทธิโดยสมบรูณ์
     
    3 เป็นสิทธิตามกฎหมาย แม้ได้มาโดยรู้ แต่ต้องใช้สิทธิโดยสุจริต เช่น มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้หลายทาง โดยเจ้าของไม่ได้หวงห้าม แต่ไปขอเปิดทางจําเป็นในที่ดินพิพาทที่เขาต้องรื้อบริเวณหลังบ้านออก เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
     
    4 เจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมเท่านั้น ที่ฟ้องขอให้เปิดทางจําเป็นได้ หากไม่ใช่เจ้าของที่ดิน แม้จะถูกที่ดินอื่นล้อมก็ไม่มีสิทธิขอให้เปิดทางจําเป็น
     
    5 มีสิทธิใช้ยานพาหนะผ่านทางจําเป็นได้ แต่ต้องให้เสียหายน้อยที่สุด
     
    6 กรณีผู้ขอไม่มีรถยนต์ใช้ จะขอทางจำเป็นสำหรับขนาดของรถยนต์ไม่ได้ เพราะเกินความจำเป็น ได้เพียงทางเดินเท่านั้น
     
    7 ทางจําเป็นอาจเป็นภาระจํายอมโดยอายุความได้ถ้าใช้ทางจําเป็นปรปักษ์กับเจ้าของ
     
    8 เจ้าของที่ดินสามารถตกลงกันให้ทางจำเป็น จดทะเบียนเป็นทางภาระจำยอมก็ได้
     
    9 หมดความจําเป็นก็ขอเปิดทางจําเป็นไม่ได้
     
    10 ผู้ที่จะขอใช้ทางจําเป็นไม่จําเป็นต้องใช้สิทธิมานาน ถูกล้อมวันไหน เวลาใด แม้จะเพิ่งเข้ามาอยู่ในที่ดินซึ่งถูกล้อมก็ขอใช้ทางจําเป็นได้
     
    11 ต้องเป็นที่ดินแปลงใหญ่มาก่อนแล้วต่อมามีการแบ่งแยกที่ดิน ออกเป็นแปลงย่อยที่ดินแปลงย่อย ถูกบังคับให้เปิดทางจําเป็นผ่านที่ดินแปลงเดิมที่ได้แบ่งแยกเท่านั้น โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทน
    12 การขอเปิดทางจําเป็นไม่มีอายุความ
    13 ค่าทดแทน จะตกลงเป็นรายปีหรือเงินก้อนก็ได้


    Please login for write message