0
สมาชิก
ค้นฎีกา
ศาลยุติธรรม
กระทรวงยุติธรรม
สภาทนายความ
กรมที่ดิน
กรมบังคับคดี
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
เกี่ยวกับสำนักงาน บริการของเรา ทนายความ ดาวน์โหลดกฏหมาย ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม
สถิติเว็บไซต์
เปิดเว็บเมื่อ : 2013-01-07
จำนวนสมาชิก : 436 คน
ปรับปรุงเมื่อ : 2024-03-14
จำนวนครั้งที่ชม : 7,512,969 ครั้ง
Online : 50 คน
Photo

    ฟ้องคดีเงินกู้ยืม ค้ำประกัน


    ทนายกาญจน์
    (Admin)
    เมื่อ » 2018-02-13 20:36:31 (IP : , ,27.145.234.156 ,, Admin)
    Admin Edit : 2018-02-13 20:41:02
    Admin Edit : 2018-02-13 20:39:36
    Admin Edit : 2018-02-13 20:36:50
    รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

    หลักเกณฑ์ฟ้องคดีเงินกู้ยืม
     
    1.การกู้ยืมเงินกว่า 2,000 บาทขึ้นไปนั้น  ต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จึงจะฟ้องบังคับคดีเรียกหนี้เงินได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653
              2.เมื่อผู้ยืมผิดนัดชำระหนี้กู้ยืม  ก็ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของท่านผู้ให้กู้ในการที่จะรับชำระหนี้ท่านย่อมมีสิทธิฟ้องคดีเรียกให้ผู้กู้รับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 55 ประกอบ มาตรา 213
     
    ตัวบทกฎหมายอ้างอิง
    ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
    มาตรา 55  ถ้าผู้ไม่อยู่ได้ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจเฉพาะการอันใดไว้ ผู้จัดการทรัพย์สินจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการอันเป็นอำนาจเฉพาะการนั้นไม่ได้ แต่ถ้าปรากฏว่าการที่ตัวแทนจัดทำอยู่นั้นอาจจะเสียหายแก่ผู้ไม่อยู่ ผู้จัดการทรัพย์สินจะร้องขอให้ศาลถอดถอนตัวแทนนั้นเสียก็ได้
     
    มาตรา 213  ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตน เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับชำระหนี้ก็ได้ เว้นแต่สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิดช่องให้ทำเช่นนั้นได้
    เมื่อสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้ได้ ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำการอันหนึ่งอันใด เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับให้บุคคลภายนอกกระทำการอันนั้นโดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายให้ก็ได้ แต่ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งไซร้ ศาลจะสั่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ก็ได้
    ส่วนหนี้ซึ่งมีวัตถุเป็นอันจะให้งดเว้นการอันใด เจ้าหนี้จะเรียกร้องให้รื้อถอนการที่ได้กระทำลงแล้วนั้นโดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่าย และให้จัดการอันควรเพื่อกาลภายหน้าด้วยก็ได้
    อนึ่งบทบัญญัติในวรรคทั้งหลายที่กล่าวมาก่อนนี้ หากระทบกระทั่งถึงสิทธิที่จะเรียกเอาค่าเสียหายไม่
     
    มาตรา 653 การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
    ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว
    กู้ยืม - ค้ำประกัน
     
    กู้ยืมเงิน คือ สัญญายืมใช้สิ้นเปลืองซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า “ผู้กู้” ได้ขอยืมเงินจำนวนหนึ่งจากบุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า “ผู้ให้กู้”  และผู้กู้ตกลงจะใช้เงินคืนภายในกำหนดเวลาตามที่ตกลงกันไว้ โดยผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ตามอัตราที่ตกลงกันไว้ การกู้ยืมเงินจะมีผลสมบูรณ์เมื่อส่งมอบเงินให้กับผู้กู้ และมีหลักฐานในการกู้ยืมเงิน
     
        ทั้งนี้การกู้ยืมเงินกันตั้งแต่ 2,000 บาทขึ้นไป จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือที่แสดงข้อความว่าได้มีการกู้เงินกันจริง และได้กู้ยืมเงินกันจำนวนเท่าใด โดยต้องมีการลงลายมือชื่อของผู้กู้เป็นสำคัญ ถ้าการกู้ยืมเงินดังกล่าวไม่ทำเป็นหนังสือ ผู้ให้กู้จะฟ้องร้องบังคับคดีกันไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653
     
     ค้ำประกัน คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า "ผู้ค้ำประกัน" สัญญาว่าจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ถ้าหากลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้
     หลักฐานการกู้ยืมเงิน - ค้ำประกัน
        หลักฐานการกู้ยืมเงินต้องเป็นหนังสือ ซึ่งลงลายมือชื่อผู้กู้ ต้องมีสาระสำคัญให้เห็นว่ามีการกู้ยืมเงินไปก็พอ โดยกฎหมายไม่ได้บังคับให้ลงชื่อผู้ให้กู้ไว้ด้วย หากผู้กู้ไม่สามารถเขียนหนังสือได้ก็ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือในหนังสือ โดยมีพยานลงลายมือชื่อรับรอง 2 คน
        หลักฐานการค้ำประกันต้องเป็นหนังสือ ซึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกัน กรณีผู้ค้ำประกันพิมพ์ลายนิ้วมือ ต้องมีพยานลงลายมือชื่อรับรอง 2 คน
    ส่วนเอกสารที่ระบุว่าได้รับเงิน โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นหนี้หรือต้องคืนเงินให้ ก็ไม่เป็นหลักฐานการกู้ยืมเงิน
    โดยไม่จำเป็นต้องทำหรือมีขึ้นในขณะกู้ยืม แต่อย่างช้าที่สุดต้องทำและมีอยู่ขณะยื่นคำฟ้องขอให้บังคับชำระหนี้กู้ยืม ตามคำพิพากษาศาลฏีกาที่ 2161/2541 ตัวอย่างเช่น สัญญากู้ บันทึกประจำวัน หนังสือรับสภาพหนี้ จดหมายว่าจะใช้คืน ใบเสร็จรับเงิน เป็นต้น
    อัตราการเรียกดอกเบี้ย
    การกู้ยืมเงินตามกฎมายกำหนดว่า ผู้ให้กู้จะเรียกดอกเบี้ยมากกว่าร้อยละ 15 บาทต่อปีหรือร้อยละ 1.25 ต่อเดือนไม่ได้ ถ้ามีการคิดดอกเบี้ยเกินอัตรา ดอกเบี้ยจะตกเป็นโมฆะคือเสียเปล่า ถือไม่ได้ว่าเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ เงินที่ชำระหนี้ต้องนำไปหักกับต้นเงินก่อน จะนำไปหักดอกเบี้ยไม่ได้ เพราะเจ้าหนี้ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัด อ้างอิงตามคำพิพากษาศาลฏีกาที่ 2131/2560 ผู้ให้กู้คงเรียกได้เฉพาะแต่เงินต้นเท่านั้น
        และนอกจากนี้ผู้ให้กู้อาจได้รับโทษจำคุกเพราะมีความผิดทางอาญาฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 มาตรา 4 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือข้อหาเบิกความเท็จในข้อสำคัญในคดี มาตรา 177 วรรค 1 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี
    อายุความฟ้องเรียกดอกเบี้ยค้างชำระ : มีกำหนดอายุความเพียง 5 ปี
    การตกลงให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย (ที่ค้างชำระไม่น้อยกว่า 1 ปี)
       คู่สัญญากู้ยืมจะตกลงกันให้เอาดอกเบี้ยนั้นมาทบต้นเข้ากับต้นเงิน แล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนที่ทบเข้ากันนั้นก็ได้ แต่การตกลงนั้นต้องทำเป็นหนังสือ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 655 วรรคแรก
     
    ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ
    ประเด็น สัญญากู้ยืมเงินหาย ผู้ให้กู้มีสิทธินำสำเนาหรือพยานบุคคลมานำสืบได้
     
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1604/2536
     โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินแล้ว นำสืบว่าการยืมเงินมีมูลหนี้เดิมมาจากการซื้อขายรถยนต์ เป็นการสืบถึงที่มาแห่งหนี้โดยละเอียดว่าหนี้นั้นมีมูลมาอย่างไร ไม่เป็นการนำสืบนอกประเด็น เมื่อการยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีอยู่จริงและสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว เพียงแต่ขาดหลักฐานแห่งการกู้ยืม ตามกฎหมายห้ามมิให้ฟ้องร้องบังคับคดีเอากับจำเลยที่ 1 เท่านั้น หนี้ดังกล่าวมีการจำนองเป็นประกัน เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ตามสัญญายืมจึงย่อมบังคับเอากับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้จำนองได้ เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้อุทธรณ์ว่า การนำสืบถึงมูลหนี้เดิมของการยืมเป็นการสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสารต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) แล้ว จำเลยที่ 2และที่ 3 จะยกขึ้นฎีกาไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249
     
    ประเด็น อายุความฟ้องคดีทายาทผู้กู้ที่เสียชีวิต ภายใน 1 ปี
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8811/2556
        สัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับ ส. ไม่ได้กำหนดเวลาชำระต้นเงินคืนไว้ โจทก์ย่อมเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และถือเป็นเวลาที่ผู้ให้กู้อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ อายุความจึงเริ่มนับแต่วันถัดจากวันทำสัญญากู้เงิน และเมื่อ ส. ถึงแก่ความตายก่อนที่โจทก์ทวงถามก็ไม่อาจใช้อายุความทั่วไปตามที่โจทก์ฎีกาเพราะสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดกซึ่งยังไม่ถึงกำหนดเวลาบังคับเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายก่อนถึงกำหนดนั้น เจ้าหนี้ก็ต้องฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้น ภายในหนึ่งปีนับแต่ได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก เมื่อโจทก์เบิกความรับว่า ส. ถึงแก่ความตายในวันที่ 1 ธันวาคม 2548 และโจทก์อยู่ช่วยงานศพด้วย แสดงว่าโจทก์รู้ถึงการตายของ ส. ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2548 โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยในฐานะทายาทของ ส. ให้ชำระหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าว เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 พ้นกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการตายของ ส. ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม
     
     ประเด็น นำคำเบิกความในคดีอื่นมายื่นฟ้องได้
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1286/2535
    หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653 วรรคแรกนั้น อาจเกิดขึ้นในขณะกู้ยืมเงินกันหรือภายหลังจากนั้นก็ได้ บันทึกคำให้การพยานที่จำเลยเบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดีอาญาว่า จำเลยกู้เงินจากโจทก์คดีนี้จริงและยังมิได้ชำระหนี้คืนนั้น เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ ใช้ฟ้องร้องบังคับคดีแก่จำเลยได้
     
     ประเด็น สัญญากู้ไม่ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ชัดเจน สามารถเรียกได้ร้อยละ 7.5 ต่อปี
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 105/2518
       สัญญากู้ระบุว่า ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยทุกเดือน แม้มิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ ผู้ให้กู้เรียกค่าดอกเบี้ยได้ร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันกู้
     
     ประเด็น เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะทั้งหมด
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 966/2534
     สัญญากู้ระบุให้ตกลงคิดดอกเบี้ยกันในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนอัตราดังกล่าวเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 และต้องห้ามตาม พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475ดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะทั้งหมด.
    อายุความ
    » กรณีมีกำหนดระยะเวลากู้ยืม เจ้าหนี้จะต้องฟ้องภายใน 10 ปี นับจากวันที่ถึงกำหนดชำระตามสัญญา
    » กรณีไม่มีกำหนดระยะเวลากู้ยืม เจ้าหนี้จะต้องฟ้องภายใน 10 ปี นับถัดจากวันทำสัญญากู้ยืม เช่น ทำสัญญา วันที่ 30 มกราคม 2540  ไม่กำหนดระยะเวลาชำระคืน อายุความในการฟ้องร้องคดีจะเริ่มวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2540 และคดีหมดอายุความในวันที่ 30 มกราคม 2550
    ถ้าพ้นกำหนดนี้แล้ว คดีเป็นอันขาดอายุความ ผู้ให้กู้ไม่มีสิทธิจะฟ้องคดีต่อศาลได้
     
    ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง
    มาตรา 653 การกู้ยืมเงินกว่า 2,000 บาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
    มาตรา 654 ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละ 15 ต่อปี
    มาตรา 655 ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ แต่ทว่าเมื่อดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่า 1 ปี คู่สัญญากู้ยืมจะตกลงให้เอาดอกเบี้ยนั้นทบเข้ากับต้นเงิน แล้วให้คิดดอกเบี้ยฝยจำนวนที่ทบเข้ากันนั้นก็ได้ แต่การตกลงเช่นนั้นต้องเป็นทำเป็นหนังสือ
    มาตรา 680 อันว่าค้ำประกันนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ค้ำประกันผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่ง เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น
     
        อนึ่ง สัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
     
    มาตรา 681/1 ข้อตกลงใดที่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ
        ความในวรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับแก่กรณีผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นนิติบุคคลและยินยอมเข้าผูกพันตนเพื่อรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม ในกรณีเช่นนั้นผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นนิติบุคคลนั้นย่อมไม่มีสิทธิดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 688 มาตรา 689 และมาตรา 690

    มาตรา 291 ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน) ก็ดี เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง
     
     สรุปสาระสำคัญกฎหมายค้ำประกันแก้ไขใหม่ พ.ศ.2557
    (1) เริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นไป
    (2) สัญญาค้ำประกันจะต้องระบุไว้ให้ชัดเจนว่าค้ำประกันหนี้อะไร จำนวนเท่าใด และผู้ค้ำประกันจะรับผิดชอบเฉพาะหนี้ที่ระบุไว้ชัดเจนเท่านั้น หากไม่ความชัดเจน อาจทำให้ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิด
    (3) สัญญาค้ำประกันจะมีข้อตกลงกำหนดให้ผู้ค้ำประกันเป็นลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้ชั้นต้น ไม่ได้ ตกเป็นโมฆะ ยกเว้นกรณีผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นนิติบุคคล และยินยอมเข้าผูกพันตนเพื่อรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม ในกรณีนี้ผู้ค้ำประกันย่อมไม่มีสิทธิเกี่ยงให้เจ้าหนี้เรียกชำระหนี้จากลูกหนี้ก่อน หรือยกข้อต่อสู้อื่นๆที่ตนมีสิทธิ
    (4) ขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกัน ตามมาตรา 681 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม มาตรา 694 มาตรา 698 และ มาตรา 699 เจ้าหนี้กับผู้ค้ำประกันจะทำสัญญากันกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น เพื่อขยายความรับผิดของผู้ค้ำประกันให้แตกต่างไปจากที่กฎหมายกำหนดไว้ ไม่ได้ หากฝ่าฝืน จะตกเป็นโมฆะ
    (5) ขั้นตอนในการที่เจ้าหนี้จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ เดิมกฎหมายไม่ได้เขียนไว้ให้ชัดเจน แต่กฎหมายใหม่ได้เขียนขั้นตอนให้เจ้าหนี้ต้องปฏิบัติไว้อย่างชัดเจน หากเจ้าหนี้ปฏิบัติผิดขั้นตอน หรือไม่ปฏิบัติตามขั้นตอน อาจมีผลทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดได้
    (6) ถ้าเจ้าหนี้ลดจำนวนหนี้ รวมทั้งดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้น ให้แก่เจ้าหนี้ชั้นต้นเท่าใด ก็ให้ภาระความรับผิดของผู้ค้ำประกัน ลดลงเท่านั้น รวมทั้งกำหนดให้ข้อตกลงใดที่เป็นการเพิ่มภาระแก่ผู้ค้ำประกัน เป็นโมฆะ
    (7) การตกลงกันไว้เป็นการล่วงหน้าว่า หากเจ้าหนี้ผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ ให้ถือว่าผู้ค้ำประกันให้ความยินยอมในการผ่อนเวลานั้นๆด้วย  เช่นนี้ กฎหมายใหม่ให้ถือว่าตกเป็นโมฆะ
     
    » ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้อันมีกำหนดเวลาแน่นอนและเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้
    » การค้ำประกันหนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไข ต้องกำหนดรายละเอียดของหนี้และขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกัน รวมทั้งจำกัดความรับผิดของผู้ค้ำประกันไว้เฉพาะหนี้ตามสัญญานั้น
     
    » ผู้ค้ำประกันสามารถค้ำประกันหนี้ในอนาคตได้โดยต้องระบุมูลหนี้ให้ชัดเจน กล่าวคือ ระบุจำนวนวงเงินค้ำประกันสูงสุดที่ค้ำประกัน และกำหนดวันสิ้นสุดของการค้ำประกันเพื่อให้ผู้ค้ำประกันทราบอย่างชัดเจน
     
    (8) การจำนองเป็นประกันหนี้ของผู้อื่น(ผู้จำนองกับลูกหนี้เป็นคนละคนกัน) จะมีข้อตกลงกันว่าหากบังคับจำนองแล้วยังเหลือหนี้อยู่เท่าใด ให้ผู้จำนองยังคงรับผิดชำระหนี้ ในส่วนที่ยังคงเหลือด้วย ข้อตกลงเช่นนี้ จะตกเป็นโมฆะตามกฎหมายใหม่
     
    » กำหนดให้ผู้จำนองซึ่งจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระ ไม่ต้องรับผิดในหนี้นั้นเกินราคาทรัพย์สินที่จำนองในเวลาที่บังคับจำนองหรือเอาทรัพย์จำนองหลุด รวมถึงให้ข้อตกลงที่กำหนดให้ผู้จำนองต้องรับผิดเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเป็นโมฆะ เว้นแต่กรณีการจำนองทรัพย์สินของตนเพื่อประกันหนี้ของนิติบุคคล ซึ่งมิใช่บริษัทมหาชนจำกัด และในกรณีนั้นมีผู้มีอำนาจบริหารจัดการนิติบุคคล หรือผู้ถือหุ้นเกินร้อยละ 25 ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้จำนองทรัพย์
     
    (9) กฎหมายเดิมไม่มีบทบัญญัติให้สิทธิแก่ฝ่ายผู้จำนองในการที่จะเป็นฝ่ายเร่งรัดให้มีการบังคับจำนองให้จบๆไป แต่กฎหมายใหม่ได้มีบทบัญญัติให้สิทธินี้แก่ผู้จำนอง ซึ่งเจ้าหนี้จะต้องบังคับจำนอง ขายทอดตลาดภายใน 1 ปี (โดยไม่ต้องฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลเพราะฝ่ายผู้จำนองเป็นฝ่ายเร่งรัดเอง)
     
    » กำหนดให้สิทธิแก่ผู้จำนองในการแจ้งต่อผู้รับจำนองเพื่อให้มีการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองโดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีต่อศาล
     
    » ขั้นตอนและเงื่อนไขที่ผู้รับจำนองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุดแทนการขายทอดตลาดเพื่อเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุดแทนการขายทอดตลาดให้ชัดเจนขึ้น
     
    » หน้าที่ของเจ้าหนี้ในการบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันเมื่อลูกหนี้ผิดนัดและผลกรณีเจ้าหนี้มิได้บอกกล่าว และกำหนดให้สิทธิแก่ผู้ค้ำประกันในการชำระหนี้ที่ถึงกำหนดได้
     
    » กำหนดขั้นตอนให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดเจ้าหนี้จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ก่อนที่หนังสือบอกกล่าวจะไปถึงผู้ค้ำประกันไม่ได้ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ค้ำประกันที่จะชำระหนี้เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ กรณีที่เจ้าหนี้ไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน  ตลอดจนค่าภาระติดพันในหนี้นั้นที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว
     
    » กำหนดให้ข้อตกลงที่ผู้ค้ำประกันทำไว้ล่วงหน้าก่อนเจ้าหนี้ผ่อนระยะเวลาการชำระหนี้อันมีผลเป็นการยินยอมให้เจ้าหนี้ผ่อนเวลา ข้อตกลงนั้นใช้บังคับไม่ได้ ยกเว้นผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นสถาบันการเงินหรือค้ำประกันเพื่อสินจ้างเป็นปกติธุระข้อตกลงล่วงหน้าเกี่ยวกับการผ่อนเวลาการชำระหนี้ให้ใช้ได้ต่อไป
     
    ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ
    1 กรณีไม่ระบุดอกเบี้ยไว้ในสัญญา เมื่อมีการฟ้องร้องกันสามารถคิดดอกเบี้ยได้เพียง 7.5 ต่อปีเท่านั้น
    2 การฟ้องร้องเรียกดอกเบี้ยสามารถเรียกได้สูงสุดเพียง 5 ปีเท่านั้น
    3 ก่อนดำเนินการฟ้องคดี ควรมีการบอกกล่าวทวงถามเป็นหนังสือที่เรียกว่า "โนติส" ก่อนเสมอ
    4 การทำสัญญากู้ยืมเงิน ผู้กู้ต้องไม่ลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่า
    5 การลงจำนวนเงิน ควรเขียนจำนวนเป็นตัวหนังสือกำกับไว้ด้วยเสมอ เพื่อป้องกันการแก้ไขเติมจำนวนเงิน
    6 ควรมีพยานร่วมลงลายมือชื่อกันฝ่ายละ 1 คน
    7 สัญญากู้ยืมเงินถือเป็นตราสารที่ต้องปิดแสตมป์ก่อนนำมาใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่ง เสียค่าปิดอากรแสตมป์ 2,000 ต่อ 1 บาท สัญญาค้ำประกันเสีย 10 บาท
    8 ก่อนฟ้องคดีโจทก์ควรต้องมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้"ผู้ค้ำประกันหนี้"ก่อน หากไม่ทวงถาม ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมที่ลูกหนี้ต้องชดใช้แก่โจทก์
    9 สัญญาค้ำประกันต้องมีรายละเอียดให้ชัดเจน ในจำนวนหนี้ที่รับผิดชอบ ซึ่งควรแยกเป็นอีกฉบับหนึ่ง
    10 กรณีผิดนัด ต้องแจ้งผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ย

         ปรึกษาคดีเงินกู้ฟรี ฟ้องคดีเงินกู้ ค้ำประกัน โทร 0971176877 ทนายกาญจน์

     


    Please login for write message