0
สมาชิก
ค้นฎีกา
ศาลยุติธรรม
กระทรวงยุติธรรม
สภาทนายความ
กรมที่ดิน
กรมบังคับคดี
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
เกี่ยวกับสำนักงาน บริการของเรา ทนายความ ดาวน์โหลดกฏหมาย ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม
สถิติเว็บไซต์
เปิดเว็บเมื่อ : 2013-01-07
จำนวนสมาชิก : 439 คน
ปรับปรุงเมื่อ : 2024-04-22
จำนวนครั้งที่ชม : 7,630,218 ครั้ง
Online : 50 คน
Photo

    หลักการเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีอาญาของผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30


    ทนายกาญจน์
    (Admin)
    เมื่อ » 2018-04-02 15:34:21 (IP : , ,124.122.100.2 ,, Admin)
    หลักการเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีอาญาของผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30
     
    1. การขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีอาญา มีได้เพียง 2 กรณี ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 และมาตรา 31 เท่านั้น กล่าวโดยสรุป คือ ผู้เสียหายขอเข้าร่วมกับอัยการที่ยื่นฟ้องไว้แล้วกรณีหนึ่ง กับอัยการขอเข้าร่วมกับผู้เสียหายที่ยื่นฟ้องไว้แล้วอีกกรณีหนึ่ง นอกจากสองกรณีดังกล่าวแล้วจะมีการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมไม่ได้ ศึกษาจากฎีกาต่อไปนี้
     
    คำพิพากษาฎีกาที่ 3320/2528
    ป.วิ.อ. มาตรา 2 (14), 2 (15), 28, 30, 31, 195 วรรคสอง, 225
    ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา30,31ได้บัญญัติเกี่ยวกับ การร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะกรณีที่ผู้เสียหายร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ กับพนักงานอัยการและกรณีที่พนักงานอัยการร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับ ผู้เสียหายสำหรับคดีที่มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวเท่านั้นส่วนกรณีที่ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับผู้เสียหายด้วยกันมิได้มีกฎหมายบัญญัติ ให้อำนาจไว้สิทธิการ ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีอาญานอกจากสองกรณี ดังกล่าวนี้แล้วย่อมไม่อาจมีได้ดังนั้นในคดีอาญาที่ผู้เสียหายคนหนึ่ง ได้ยื่นฟ้องคดีไว้ก่อนแล้ว ผู้เสียหายอีกคนหนึ่งไม่อาจยื่นคำร้องขอ เข้าร่วมเป็นโจทก์ได้
    แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งอนุญาตให้โจทก์ที่ 2 ที่ 3 เข้าเป็นโจทก์ร่วมแล้ว แต่เมื่อโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ไม่มีสิทธิร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับโจทก์ในคดีนี้ คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงเป็นการไม่ชอบโจทก์ที่ 2ที่3 จึงมิใช่คู่ความในคดี ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกา คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง และจำหน่ายคดี ต่อมาได้
    ปัญหาเกี่ยวกับการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม เป็นปัญหาที่เกี่ยว ด้วย ความสงบเรียบร้อยของประชาชน
     
    คำพิพากษาฎีกาที่ 3935/2529
    ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2)
    ป.วิ.อ. มาตรา 15, 30, 31, 208 ทวิ, 225
    การขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีอาญานั้นมีบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา30และ31เฉพาะกรณีที่ผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการหรือพนักงานอัยการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายในคดีที่มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวเท่านั้นนอกเหนือจากสองกรณีนี้แล้วการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมไม่อาจจะมีได้ดังนั้นเมื่อผู้เสียหายคนหนึ่งเป็นโจทก์ฟ้องคดีแล้วผู้เสียหายอื่นจะร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมจึงไม่อาจกระทำได้และจะอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา57(2)ซึ่งบัญญัติให้สิทธิบุคคลภายนอกในกรณีร้องสอดขอเข้าเป็นโจทก์หรือจำเลยร่วมประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา15มาอนุโลมบังคับใช้ในกรณีนี้ก็ไม่ได้เช่นเดียวกันเพราะอำนาจฟ้องดังกล่าวถือว่ากฎหมายได้กำหนดไว้เป็นกรณีพิเศษโดยเฉพาะในมาตรา30และ31แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้วดังนั้นผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์เดิมได้ การให้วินิจฉัยปัญหาโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกานั้นเป็นอำนาจและหน้าที่ของประธานศาลฎีกาโดยเฉพาะคู่ความจะร้องขอขึ้นมาหาได้ไม่.
     
    2. การขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกัน จะมีประเด็นที่ต้องระมัดระวัง คือกรณีเกิดการฟ้องซ้อน ให้ศึกษาจากฎีกาต่อไปนี้
     
    คำพิพากษาฎีกาที่ 769/2535
    ป.วิ.พ. มาตรา 173
    ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4), 15, 28
    ในคดีอาญาที่มีผู้เสียหายหลายคน ผู้เสียหายแต่ละคนย่อมมีสิทธิฟ้องผู้กระทำผิดได้ การที่ผู้เสียหายคนหนึ่งคนใดฟ้องผู้กระทำผิดก่อน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็ไม่มีบทบัญญัติห้ามผู้เสียหายคนอื่นฟ้องผู้กระทำผิดอีก ส่วนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง(1)แม้จะนำมาใช้บังคับในคดีอาญาได้ก็ตาม ก็ห้ามเฉพาะโจทก์ในคดีเดิมเท่านั้นมิให้ฟ้องจำเลยซ้ำในเรื่องเดียวกัน โจทก์ไม่เคยฟ้องจำเลยที่ 2 ในเรื่องเดียวกันกับที่ฟ้องคดีนี้มาก่อน การที่ภรรยาโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในเรื่องเดียวกับคดีนี้มาก่อน ก็ยังไม่ถือว่าเป็นการฟ้องแทนโจทก์ด้วย ฟ้องโจทก์คดีนี้เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีก่อน
     
    คำพิพากษาฎีกาที่ 728/2494
    ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง(1)
    ป.วิ.อ. มาตรา 15
    พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 18
    ผู้เสียหายร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับอัยการซึ่งได้ฟ้องจำเลยหาว่ากระทำผิดฐานหนึ่งอยู่แล้ว ผู้เสียหายจะมาเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในเรื่องการกระทำของจำเลยอันเดียวกันนั้นอีกไม่ได้
     
    คำพิพากษาฎีกาที่ 1790/2492
    ป.วิ.อ. มาตรา 36, 39
    กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 249
    ภรรยาผู้ตายได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยหาว่าฆ่าผู้ตาย โดยเจตนา ศาลชั้นต้นรับฟ้องไว้ไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ต่อมาศาลได้อนุญาตให้ภรรยาผู้ตายถอนฟ้องแล้ว บิดามารดาของผู้ตายจะกลับมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานเดียวกันหาได้ไม่ เพราะถือว่าได้ถอนคดีอาญาไปจากศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 36
     
    คำพิพากษาฎีกาที่ 3619/2543
    ป.พ.พ. มาตรา 1599
    ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4), 29, 35
    พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4
    เช็คพิพาทถึงกำหนดภายหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายสิทธิตามเช็คพิพาทจึงเป็นมรดกตกได้แก่โจทก์ผู้ทรงเช็คซึ่งเป็นทายาทผู้ตายทันทีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อธนาคาร ตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาท ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายและเป็นผู้เสียหายโดยตรงมีอำนาจฟ้อง
    โจทก์ที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องแล้วตายลง โจทก์ที่ 1ซึ่งเป็นมารดาของโจทก์ที่ 3 ผู้ตายไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแทนก็เป็นสิทธิของโจทก์ที่ 1 ที่จะร้องต่อศาลขอให้จำหน่ายคดีโจทก์ที่ 3 ได้ เมื่อจำเลยไม่คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่จำหน่ายคดีเฉพาะโจทก์ที่ 3 จึงชอบแล้ว
    สิทธิตามเช็คพิพาทเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามย่อมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในเช็คพิพาท โจทก์ทั้งสามคนใดคนหนึ่งสามารถที่จะฟ้องร้องให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยได้โดยลำพัง โดยไม่จำต้องใช้สิทธิร่วมกันทั้งการฟ้องคดีของโจทก์ทั้งสามเป็นการใช้สิทธิในฐานะผู้เสียหาย มิใช่สิทธิในฐานะผู้จัดการมรดก การที่ศาลจำหน่ายคดีของโจทก์ที่ 3 เนื่องจากโจทก์ที่ 3 ถึงแก่ความตายก็หาทำให้อำนาจฟ้องของโจทก์ที่ 1และที่ 2 ต้องระงับไปไม่
     
    3. กรณีผู้เสียหายหรือผู้จัดการแทนผู้เสียหายมีสิทธิขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการได้ ให้ศึกษาจากฎีกาต่อไปนี้
     
    คำพิพากษาฎีกาที่ 892/2516
    ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4), 5 (2), 30
    ป.อ. มาตรา 177, 181, 291
    โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเบิกความเท็จในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง ป.ในข้อหาฐานขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายว่า ป. ขับรถยนต์มาด้วยความเร็วปกติและได้ลดความเร็วลงเมื่อถึงทางโค้ง พอรถแฉลบผู้ตายสะดุ้งตื่นร้องโวยวาย และคว้ามือ ป. เป็นเหตุให้รถแฉลบจากถนนพลิกคว่ำ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมอ้างว่าเป็นบุตรผู้ตาย ได้ยื่นฟ้องป. เป็นคดีแพ่ง เรียกค่าเสียหายเนื่องจาก ป. ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้มารดาผู้ร้องถึงแก่ความตาย และได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีอาญาที่ ป.เป็นจำเลยดังกล่าวเช่นนี้ ผู้ร้องเป็นผู้เสียหายในคดีนี้โดยตรงและมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ เพราะผู้ร้องเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาดังกล่าว และคำเบิกความเท็จในข้อสำคัญของจำเลยนี้ในคดีอาญาดังกล่าว ย่อมกระทบกระเทือนถึงผลของคดีแพ่งที่ผู้ร้องเป็นโจทก์ฟ้องป. โดยศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีอาญาดังกล่าวนั้น
     
    คำพิพากษาฎีกาที่ 3252/2545
    ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4), 30
    ป.อ. มาตรา 268
    จำเลยปลอมลายมือชื่อของ ช. กรรมการผู้จัดการบริษัท น. ในคำขอจดทะเบียนบริษัท แล้วนำคำขอนั้นไปยื่นต่อนายทะเบียนเพื่อให้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทดังกล่าว โดยถอนชื่อผู้ร้องซึ่งเป็นกรรมการบริษัท น. ออกจากตำแหน่ง อันทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อสถานะและความเป็นผู้แทนนิติบุคคลของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยเฉพาะในความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 และเป็นผู้เสียหายตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 30
     
    คำพิพากษาฎีกาที่ 6306/2545
    ป.วิ.อ. มาตรา 5, 28, 30
    ผู้เสียหายอายุ 17 ปีเศษ เป็นบุตรของโจทก์ร่วมกับ ส. แต่โจทก์ร่วมกับ ส. มิได้จดทะเบียนสมรสกัน ผู้เสียหายจึงมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ร่วมเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้จดทะเบียนว่าผู้เสียหายเป็นบุตร โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้ใช้อำนาจปกครอง และมิใช่ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เสียหายที่จะมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5(1) จึงไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการและไม่มีฐานะเป็นโจทก์ที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาได้
     
    คำพิพากษาฎีกาที่ 1734-1735/2532
    ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2), 30
    ป.อ. มาตรา 83, 309 วรรคสอง, 310
    ฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยกับพวกร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังและทำให้ผู้เสียหายปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และบรรยายต่อมาว่าจนบัดนี้ผู้เสียหายอาจถึง แก่ความตายไปแล้ว กับที่ผู้ร้องกล่าวอ้างในคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ว่าไม่ทราบว่าผู้เสียหายเป็นตาย ร้ายดีอย่างไร โดย ไม่ได้ความว่าผู้เสียหายถูก ทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บและไม่ได้ยืนยันว่าผู้เสียหายถึง แก่ความตายไปแล้วจริง จึงมิใช่กรณีที่ผู้เสียหายถูก ทำร้ายถึง ตาย หรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5(2)แม้ผู้ร้องจะเป็นมารดาของผู้เสียหาย ก็ไม่อาจเข้ามาจัดการแทนผู้เสียหายโดย การขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้.
     
    4. ผู้เสียหายที่จะขอเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ให้ศึกษาจากฎีกาต่อไปนี้
     
    คำพิพากษาฎีกาที่ 3100/2547
    ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4), 30
    ป.อ. มาตรา 295
    จำเลยได้แจ้งความร้องทุกข์โจทก์ร่วมในข้อหาทำร้ายร่างกาย โจทก์ร่วมให้การรับสารภาพเนื่องจากโจทก์ร่วมทำร้ายร่างกายจำเลยหลังจากจำเลยใช้อาวุธมีดแทงโจทก์ร่วมแล้ว ซึ่งคดีดังกล่าวพนักงานอัยการได้แยกฟ้องโจทก์ร่วมในข้อหาทำร้ายร่างกาย ศาลมีคำพิพากษาปรับโจทก์ร่วมแล้ว จึงฟังได้ว่าโจทก์ร่วมมีส่วนกระทำผิดฐานทำร้ายร่างกายจำเลยในเหตุการณ์ที่จำเลยใช้มีดแทงโจทก์ร่วมในคดีนี้ โจทก์ร่วมจึงมิใช่ผู้เสียหายตามความหมายใน ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) และทำให้ไม่มีอำนาจที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตามมาตรา 30 โจทก์ร่วมไม่มีอำนาจยื่นฎีกา
     
    คำพิพากษาฎีกาที่ 1596/2549
    ป.วิ.พ. มาตรา 249
    ป.วิ.อ. มาตรา 2 4, 5, 30
    เหตุเกิดรถชนกันผู้ตายมีส่วนประมาทอยู่บ้าง ผู้ตายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยในความผิดตาม ป.อ. 291 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) โจทก์ร่วมซึ่งเป็นบุพการีผู้ตายย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายได้ตามมาตรา 5 (2) โจทก์ร่วมจึงไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตามมาตรา 30 โจทก์ร่วมย่อมไม่มีสิทธิอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยสถานหนักโดยไม่รอการลงโทษ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้จึงไม่ชอบ และแม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษ แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับวินิจฉัยมาโดยไม่ชอบจำเลยก็ฎีกาไม่ได้ เนื่องจากเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและยกฎีกาของจำเลย
     
    คำพิพากษาฎีกาที่ 4147/2550
    ป.วิ.พ. มาตรา 88, 225, 249 วรรคหนึ่ง
    ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4), 3 (2), 5 (1), 15
    ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก, 312 ตรี วรรคสอง, 317 วรรคสาม
    ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก บัญญัติให้ผู้กระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตนนั้น มีความผิดโดยไม่คำนึงว่าเด็กหญิงนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม แต่หากเด็กหญิงนั้นยินยอม ก็มิได้หมายความว่าเด็กหญิงนั้นมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย เมื่อเด็กหญิงทั้งสามถูกกระทำชำเรา แม้เด็กหญิงทั้งสามจะยินยอมก็เป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดข้อหานี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) โจทก์ร่วมที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมย่อมมีอำนาจจัดการแทนเด็กหญิงทั้งสามตามป.วิ.อ. มาตรา 5 (1) และมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดข้อหานี้ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 (2)
    แม้โจทก์และโจทก์ร่วมที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 จะมิได้ระบุพยานอ้าง ส.เป็นพยานในคดีนี้ด้วยก็ตาม แต่โจทก์ในสำนวนคดีแรกได้ระบุพยานอ้าง ส. เป็นพยาน ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน จึงรับฟังคำเบิกความของ ส. เป็นพยานในสำนวนคดีนี้ได้
    ความเข้าใจผิดของจำเลยเกี่ยวกับอายุของเด็กหญิงทั้งสามจะเป็นความเข้าใจผิดจริงดังที่จำเลยยกขึ้นฎีกาหรือไม่ เป็นปัญหาข้อเท็จจริง และจำเลยไม่เคยยกปัญหานี้ขึ้นกล่าวอ้างและนำสืบพยานในศาลชั้นต้น จำเลยเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะรับวินิจฉัยให้ ก็เป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 และถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และศาลชั้นต้นได้สั่งรับฎีกาของจำเลยในข้อนี้มาศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย
    การกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการรับไว้หรือล่อไปซึ่งเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี โดยทุจริต เพราะจำเลยหาได้รับเด็กหญิงทั้งสามไว้เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นไม่ เนื่องจากจำเลยมีเจตนาประสงค์จะกระทำชำเราเด็กหญิงทั้งสามเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 312 ตรี วรรคสอง.
     
    5. ถ้าพนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องแล้วปรากฏว่าคดีนั้นการสอบสวนเป็นไปโดยมิชอบ ทำให้อัยการไม่มีอำนาจฟ้อง คำร้องขอเป็นโจทก์ร่วมของผู้เสียหายย่อมตกไป ให้ศึกษาจากฎีกาต่อไปนี้
     
    คำพิพากษาฎีกาที่ 186/2514
    ป.วิ.อ. มาตรา 28, 39 (4), 226
    เมื่อประเด็นข้อกล่าวหาในคดีนี้เป็นคนละเหตุกับประเด็นข้อกล่าวหาจำเลยในคดีก่อน ฟ้องคดีนี้ย่อมไม่เป็นฟ้องซ้ำกับฟ้องในคดีก่อน
    ผู้เสียหายที่ได้รับอนุญาตให้เข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีแล้วแม้ภายหลังศาลอุทธรณ์จะยกคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมเสียเพราะโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำแก่ผู้เสียหายที่ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมนั้นด้วยก็ตาม ก็ไม่ทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของโจทก์ร่วมที่ได้กระทำระหว่างเป็นคู่ความในคดีเสียเปล่าไปไม่ พยานหลักฐานที่โจทก์ร่วมได้อ้างอิงไว้ ย่อมใช้เป็นพยานหลักฐานสำหรับโจทก์และโจทก์ร่วมคนอื่นเพื่อศาลนำมาประมวลวินิจฉัยข้อเท็จจริงแห่งคดีได้
     
    6. ถ้าสิทธิของผู้เสียหายระงับไปตามกฎหมายจะขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการไม่ได้ ให้ศึกษาจากฎีกาต่อไปนี้
     
    คำพิพากษาฎีกาที่ 816/2523
    ป.วิ.อ. มาตรา 30, 35, 166
    พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 มาตรา 3
    โจทก์ร่วมเคยเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในมูลกรณีเดียวกันกับคดีนี้มาครั้งหนึ่งแล้วแต่ในคดีนั้นโจทก์ร่วมไม่มาตามกำหนดนัด ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องศาลพิพากษายกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 166 ผลแห่งคดีที่โจทก์ร่วม ยื่นฟ้องจำเลยดังกล่าวนั้น ทำให้โจทก์ร่วมจะฟ้องจำเลยเรื่องเดียวกันอีกไม่ได้ เมื่อเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัวย่อมตัดอำนาจฟ้องของพนักงานอัยการตามมาตรา 166 วรรคท้าย สิทธิของพนักงานอัยการที่ยื่นฟ้องจำเลยในมูลกรณีเดียวกันไว้แล้วเป็นอันระงับไปโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าพนักงานอัยการฟ้องก่อนหรือหลังจากที่ศาลยกฟ้องคดีของโจทก์ร่วม เมื่อพนักงานอัยการถูกตัดอำนาจฟ้องย่อมจะดำเนินคดีต่อไปไม่ได้ ต้องยกฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วม
    การที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องในคดีที่ตนเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยแล้วศาลพิพากษายกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเพราะเหตุโจทก์ไม่มาศาล ขอให้ศาลยกคดีของตนขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่ แต่ถอนคำร้องเสียเท่ากับไม่มีการยื่นคำร้องจะแปลว่าคำร้องที่โจทก์ยื่นและถอนดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมประสงค์จะถอนคดีที่ตนฟ้องเพื่อเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการไม่ได้
     
    คำพิพากษาฎีกาที่ 7241/2544
    ป.วิ.อ. มาตรา 36
    เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ในครั้งแรก ก็แสดงว่าศาลชั้นต้นฟังว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหาย สามารถดำเนินคดีแก่จำเลยโดยอาศัยสิทธิตามฟ้องของพนักงานอัยการเสมือนโจทก์ร่วมฟ้องเองการที่โจทก์ร่วมขอถอนตัวจากการเป็นโจทก์ร่วมโดยระบุว่ามีความเห็นหลายอย่างไม่ตรงกับความเห็นของโจทก์ หากโจทก์ร่วมดำเนินคดีนี้ต่อไปอีกอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่รูปคดีของโจทก์การขอถอนตัวจากการเป็นโจทก์ร่วมดังกล่าวไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมจะไปดำเนินการอะไรอีก ถือได้ว่าโจทก์ร่วมไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไป มีผลเท่ากับเป็นการถอนฟ้องในส่วนของโจทก์ร่วมเสร็จเด็ดขาดนั่นเอง เมื่อเป็นการขอถอนฟ้องเสร็จเด็ดขาดแล้ว โจทก์ร่วมจะไปขอเข้าร่วมเป็นโจทก์อีกไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 36 ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์ในครั้งหลังจึงไม่ชอบ และเมื่อโจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์ไม่ได้แล้ว โจทก์ร่วมจึงมิได้เป็นโจทก์ของคดีนี้ โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นคดีนี้ได้
     
    7. ผู้เสียหายที่ขอเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการต้องถือเอาคำฟ้องของอัยการเป็นหลัก ให้ศึกษาจากฎีกาต่อไปนี้
     
    คำพิพากษาฎีกาที่ 1583/2513
    พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 7, 9
    ป.วิ.อ. มาตรา 30
    พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2503 มาตรา 4
    การที่ผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับผู้ว่าคดีโจทก์ ตามอำนาจที่ให้ไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 30 นั้น คำร้องของผู้เสียหายไม่ใช่คำฟ้องที่ถือได้ว่าเป็นคำฟ้องคดีหนึ่งอีกต่างหากจากฟ้องของผู้ว่าคดีโจทก์ เมื่ออำนาจฟ้องของผู้ว่าคดีโจทก์สำหรับคดีนั้นไม่มีต้องยกฟ้องของผู้ว่าคดีโจทก์แล้ว ย่อมเป็นผลตามกฎหมายที่ต้องยกฟ้องของผู้เสียหายโจทก์ร่วมไปด้วยเพราะไม่มีคำฟ้องเหลืออยู่ที่จะให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ (อ้างฎีกาที่ 1274/2481)
     
    คำพิพากษาฎีกาที่ 1974/2539
    ป.วิ.อ. มาตรา 19, 30, 120, 140, 141
    ป.อ. มาตรา 91, 276, 284, 310
    ความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวงเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไปและความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารตามที่โจทก์นำสืบ กับความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นและข่มขืนกระทำชำเราเป็นความผิดซึ่งมีหลายกรรม กระทำลงในท้องที่ต่าง ๆ กัน รวมทั้งในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางยี่ขัน กรุงเทพมหานครและสถานีตำรวจภูธรอำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งพนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคหนึ่ง(3) (4) และวรรคสอง ฉะนั้น พันตำรวจโท ว. พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางยี่ขันในขณะเกิดเหตุ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องจึงมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ แต่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองถูกจับที่อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนกรณีจับผู้ต้องหาได้แล้วเช่นนี้จึงเป็นที่แน่ชัดว่าคือพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอท่ามะกา ซึ่งเป็นท้องที่ที่จับได้อยู่ในเขตอำนาจตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคสาม (ก) การที่พันตำรวจโท ว.ได้ทำการสอบสวนคดีนี้หลังจากจับจำเลยทั้งสองได้แล้ว พันตำรวจโท ว.คงเป็นพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจสอบสวนเท่านั้น แต่พันตำรวจโท ว.มิได้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ทั้งมิใช่กรณีที่จับผู้ต้องหายังไม่ได้อันจะถือว่าพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทำผิดก่อนอยู่ในเขตอำนาจเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา19 วรรคสาม (ข) ได้ เมื่อพันตำรวจโท ว.มิใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบซึ่งมีอำนาจสรุปสำนวนและทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปพร้อมกับสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 140 และ 141แม้จะดำเนินการสอบสวนต่อไปจนเสร็จ ก็ถือไม่ได้ว่าได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อนโดยชอบ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
     
    คำพิพากษาฎีกาที่ 3833/2525
    ป.วิ.อ. มาตรา 30, 163, 164, 218
    ป.อ. มาตรา 295
    โจทก์ร่วมเข้ามาดำเนินคดีแก่จำเลยโดยอาศัยสิทธิตามฟ้องของพนักงานอัยการ จึงไม่มีอำนาจขอแก้และเพิ่มเติมฟ้องให้นอกเหนือไปจากฟ้องของพนักงานอัยการ หากศาลชั้นต้นสั่งนัดไต่สวนมูลฟ้องส่วนที่โจทก์ร่วมขอแก้และเพิ่มเติมฟ้องไว้ก็มีอำนาจสั่งงดเสียได้
    เมื่อศาลมิได้อนุญาตให้แก้และเพิ่มเติมฟ้องตามคำร้องของโจทก์ร่วม จึงลงโทษจำเลยตามบทมาตราที่ขอแก้และเพิ่มเติมฟ้องนั้นไม่ได้
    ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำคุกจำเลย 1 เดือนปรับ 500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา218
     
    คำพิพากษาฎีกาที่ 7572/2542
    ป.วิ.พ. มาตรา 87, 88
    ป.วิ.อ. มาตรา 15, 195 วรรคสอง
    ป.อ. มาตรา 59, 393
    ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วมภายหลังจากการสืบพยานโจทก์นัดแรกผ่านพ้นไปแล้ว เมื่อศาลชั้นต้นรับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของโจทก์ร่วม และอนุญาตให้โจทก์ร่วมนำพยานของตนเข้าสืบภายหลังสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว ศาลจึงใช้ดุลพินิจเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมรับฟังพยานของโจทก์ร่วมได้
    ปัญหาว่าการกระทำใดไม่เป็นความผิดเพราะขาดองค์ประกอบนั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมาย
    การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำต่อโจทก์ร่วมว่า "มึงเข้าไปในที่ของกูได้อย่างไร กูจะแจ้งข้อหาบุกรุกมึง มึงเป็นผู้ใหญ่บ้านได้อย่างไร ไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้หน้าที่ ไอ้หน้าโง่มึงต้องเจอกับกูแน่ที่ศาล" นั้น เห็นได้ว่าสรรพนามที่จำเลยใช้แทนตัวจำเลยและโจทก์ร่วมว่ากูและมึงนั้นเป็นเพียงถ้อยคำไม่สุภาพ ส่วนถ้อยคำในทำนองว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้ใหญ่บ้านไม่มีอำนาจหน้าที่ ไม่รู้กฎหมายและจะฟ้องร้องดำเนินคดีกับโจทก์ร่วมนั้นเป็นเพียงถ้อยคำต่อว่าโจทก์ร่วมที่เข้าไปในที่ดินของ ม. พ่อตาจำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาต และแสดงเจตนาที่จะดำเนินคดีกับโจทก์ร่วมเท่านั้น ไม่ใช่ถ้อยคำที่ดูถูกเหยียดหยามโจทก์ร่วม แต่ที่จำเลยว่าโจทก์ร่วมว่าไอ้หน้าโง่นั้น ถ้อยคำดังกล่าวแสดงอยู่ในตัวถึงการหมิ่นเหยียดหยามโจทก์ร่วม แม้จะเป็นการกล่าวถ้อยคำดูหมิ่นโจทก์ร่วมในขณะที่จำเลยและโจทก์ร่วมทะเลาะกันก็ต้องถือว่าจำเลยกล่าวโดยมีเจตนาดูหมิ่นโจทก์ร่วม หาใช่ว่าการกล่าวในขณะทะเลาะกันจะถือว่าจำเลยมิได้มีเจตนาดูหมิ่นอันจักเป็นการขาดองค์ประกอบความผิดไม่
     
    8. การที่ผู้เสียหายขอเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการ ต้องทำเป็นคำร้อง ทนายของผู้เสียหายลงชื่อในคำร้องได้ ให้ศึกษาจากฎีกาต่อไปนี้
     
    คำพิพากษาฎีกาที่ 629/2501
    ป.วิ.พ. มาตรา 60 (1)
    ป.วิ.อ. มาตรา 158
    ทนายความที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาย่อมมีอำนาจลงลายมือชื่อในคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการแทนตัวความได้
     
    9. กรณีผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ การขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมต้องกระทำโดยผู้แทนโดยชอบธรรม ให้ศึกษาจากฎีกาต่อไปนี้
     
    คำพิพากษาฎีกาที่ 563/2517
    ป.วิ.พ. มาตรา 56
    ป.วิ.อ. มาตรา 3, 5, 6, 15
    ผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ โดยบิดาให้ความยินยอมนั้นมิได้เป็นไปตามบทบังคับอันว่าด้วยความสามารถของบุคคลตามกฎหมาย เพราะในคดีอาญานั้นผู้เยาว์จะเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ต้องกระทำโดยผู้แทน ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 3,5 และ 6



    Please login for write message