0
สมาชิก
ค้นฎีกา
ศาลยุติธรรม
กระทรวงยุติธรรม
สภาทนายความ
กรมที่ดิน
กรมบังคับคดี
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
เกี่ยวกับสำนักงาน บริการของเรา ทนายความ ดาวน์โหลดกฏหมาย ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม
สถิติเว็บไซต์
เปิดเว็บเมื่อ : 2013-01-07
จำนวนสมาชิก : 436 คน
ปรับปรุงเมื่อ : 2024-03-14
จำนวนครั้งที่ชม : 7,511,931 ครั้ง
Online : 61 คน
Photo

    ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้


    ทนายกาญจน์
    (Admin)
    เมื่อ » 2019-12-19 11:23:58 (IP : , ,110.168.53.149 ,, Admin)


    ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

    โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 350

    ศาลชั้นต้นตรวจฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง

    โจทก์อุทธรณ์

    ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

    โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย

    ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองตามฟ้องเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 หรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ต้องปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ โดยผู้กระทำต้องรู้ว่าเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ และย้ายไปเสียซึ่งทรัพย์ ซ่อนเร้นทรัพย์ หรือโอนทรัพย์ของลูกหนี้ไปให้แก่ผู้อื่น เพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันโอนชื่อที่ดินของนายบุญมีจากนายบุญมีเป็นผู้รับโอนประเภทมรดกใส่ชื่อจำเลยทั้งสอง ฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองรับโอนที่ดินซึ่งเป็นมรดกของนายบุญมีที่ตกทอดแก่จำเลยทั้งสองในฐานะที่จำเลยทั้งสองเป็นผู้รับมรดกของนายบุญมีเท่านั้น ซึ่งโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้กองมรดกของนายบุญมียังคงมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกดังกล่าว เมื่อคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้ระบุว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันโอนที่ดินของนายบุญมีซึ่งเป็นลูกหนี้โจทก์ไปให้แก่ผู้อื่นจึงเป็นฟ้องที่ขาดสาระสำคัญไม่ครบองค์ประกอบแห่งความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

    พิพากษายืน

    สรุป

    ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 ต้องปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ โดยผู้กระทำต้องรู้ว่าเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ และย้ายไปเสียซึ่งทรัพย์ ซ่อนเร้นทรัพย์ หรือโอนทรัพย์ของลูกหนี้ไปให้แก่ผู้อื่น เพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน
     

     
              ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ 
              โกงเจ้าหนี้จำนำ ตามมาตรา 349
              โกงเจ้าหนี้ทั่วไป ตามมาตรา 350

     
    มาตรา 349  "ผู้ใดเอาไปเสีย ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์อันตนจำนำไว้แก่ผู้อื่น ถ้าได้กระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้รับจำนำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
     
    องค์ประกอบความผิดตามมาตรา 349
     
    องค์ประกอบภายนอก 
    1. เอาไปเสีย ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์  
              2. ซึ่งทรัพย์อันตนจำนำไว้แก่ผู้อื่น  

     
              องค์ประกอบภายใน คือ
              1. เจตนา
              2. เจตนาพิเศษ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้รับจำนำ 

              การจำนำก็เป็นไปตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
              มาตรา 747 "อันว่าจำนำนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จำนำส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนำ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้"
              สรุปว่า การจำนำนั้น ผู้จำนำต้องส่งมอบทรัพย์ที่จำนำให้ไว้แก่ผู้รับจำนำ ที่ส่งมอบให้ไว้ก็เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ ดังนั้น แม้ทำสัญญาจำนำกันไว้ แต่ผู้รับจำนำยอมคืนทรัพย์ที่จำนำให้ผู้จำนำไป สัญญานั้นก็ไม่ใช่การจำนำตามความหมายของกฎหมาย
     
              กรณีที่ไม่ผิดฐานโกงเจ้าหนี้จำนำ
             โจทก์ร่วมกับจำเลยทำสัญญาจำนำข้าวระหว่างกันโดยโจทก์ร่วมยอมให้ข้าวอยู่ในความครอบครองของจำเลย ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยมอบข้าวไว้เป็นประกันการชำระหนี้ตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะจำนำ เมื่อไม่มีการจำนำจึงขาดองค์ประกอบที่จะเป็นความผิดข้อหาโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 349
              โจทก์ร่วมเช่าโกดังเก็บข้าวซึ่งเป็นโกดังที่จำเลยใช้ประกอบกิจการโรงสีของจำเลย เมื่อทำสัญญาเช่าแล้วจำเลยเป็นผู้ถือกุญแจโกดังเพียงฝ่ายเดียว จำเลยเป็นผู้ครอบครองโกดังอยู่เช่นเดิม สัญญาเช่าที่ทำไว้มีค่าเช่าเพียงปีละ 100 บาท นับว่าน้อยมาก จึงเป็นการทำสัญญาเช่าเป็นแบบพิธีเท่านั้น คู่สัญญาไม่ได้มีเจตนาให้เป็นการเช่าตามกฎหมายอย่างแท้จริง กรณีถือว่าจำเลยยังเป็นผู้ครอบครองโกดังที่เช่าอยู่ตลอดเวลา จำเลยจึงไม่อาจรบกวนการครอบครองของตนเองได้ ไม่มีความผิดฐานบุกรุก (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1363/2550)
             กรณีนี้ที่ไม่ผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ก็เพราะว่า ไม่มีการส่งมอบทรัพย์สิน คือ ข้าว ซึ่งเป็นทรัพย์ที่จำนำให้แก่ผู้รับจำนำ ดังนั้น แม้จะเรียกว่าสัญญาจำนำข้าว แต่ก็มิใช่การทำสัญญาจำนำตามความหมายของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 747  เมื่อมิใช่สัญญาจำนำตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบของความผิด คือ ข้าวมิใช่ทรัพย์อันตนจำนำไว้แก่ผู้อื่น เมื่อเป็นดังนี้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดนั่นเอง
              

              มาตรา 350  "ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

     
    แบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ 
    1. ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใด
              2. แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริง

              กรณีที่ 1 ย้ายทรัพย์  
              องค์ประกอบภายนอก คือ
              1.  ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่น
              2.  ซึ่งทรัพย์ใด
              องค์ประกอบภายใน คือ
              1. เจตนา
              2. เจตนาพิเศษ เพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน

              กรณีที่ 2  แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริง
              องค์ประกอบภายนอก คือ
              1. แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใด
              2. หนี้อันไม่เป็นความจริง
              องค์ประกอบภายใน
              1. เจตนา
              2. เจตนาพิเศษ เพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน 

              กรณียักย้าย หรือซ่อนเร้น ทรัพย์สิน
              ตาม ป.อ. มาตรา 350 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ผู้ใดเพียงแต่รู้ว่าเจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ แล้วย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใด แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริง ก็ถือว่าเป็นความผิดตามมาตราดังกล่าวแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในเรื่องผิดสัญญาและเรียกค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดพอชำระหนี้แก่โจทก์ ขณะที่คดีแพ่งดังกล่าวอยู่ระหว่างบังคับคดีตามคำพิพากษา จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดิน 3 แปลง ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา แม้คดีแพ่งดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ฟ้องแย้ง และผลคดีอาจจะเปลี่ยนแปลงโดยศาลฎีกาอาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชนะคดีตามฟ้องแย้ง ซึ่งไม่แน่ว่าโจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในชั้นที่สุดหรือไม่ก็ตาม ก็ถือว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้แล้ว ไม่จำต้องถือเอาคำพิพากษาของศาลที่พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดในทางแพ่งมาเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานดังกล่าว (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16070 - 16072/2555)
              แม้ขณะจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินจำนวน 32 แปลง ให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2548 คดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ทั้งสองคดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ก็ตาม แต่ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้สำคัญที่ว่าจำเลยที่ 1 โอนที่ดินไปโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อว่า เมื่อโจทก์ชนะคดีแพ่งแล้ว โจทก์อาจไม่สามารถบังคับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ได้ ทั้งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 มิได้บัญญัติให้เจ้าหนี้หมายถึงเฉพาะบุคคลผู้ที่ชนะคดีและคดีได้ถึงที่สุดแล้วเท่านั้น หากหมายความถึงเจ้าหนี้ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิฟ้องให้ชำระหนี้ คำพิพากษาของศาลที่ให้จำเลยที่ 1 รับผิดในทางแพ่งจึงมิใช่องค์ประกอบความรับผิดในทางอาญาฐานโกงเจ้าหนี้ ทั้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 615/2551 ก็มีผลผูกพันเฉพาะคู่ความในคดีเท่านั้น จึงไม่อาจนำมารับฟังในคดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 โอนที่ดินหลังจากที่โจทก์ได้ยื่นฟ้องและศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ถือว่าโจทก์อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ซึ่งได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4789/2555)
              กรณีเป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น ก็ถือว่าสามีของภรรยาที่ตนเองไปเป็นชู้ด้วยเป็นเจ้าหนี้ เพราะสามีมีสิทธิเรียกค่าทดแทน ถ้ายักย้ายทรัพย์สินเพื่อมิให้สามีของหญิงได้รับชำระหนี้ก็มีความผิด
              ป.อ. มาตรา 350 บัญญัติว่า “ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า เจ้าหนี้ที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ มิได้หมายถึงเฉพาะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น หากแต่ยังมีความหมายรวมถึงเจ้าหนี้อื่นซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิฟ้องให้ชำระหนี้ด้วย นอกจากนี้ ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ก็บัญญัติว่า “สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้...” แสดงว่าสภาพความเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยเกิดขึ้นทันทีที่จำเลยเป็นชู้กับภริยาโจทก์ ส่วนคำพิพากษาของศาลที่บังคับให้มีการชดใช้ค่าทดแทนกันมิได้ก่อให้เกิดหนี้ระหว่างโจทก์และจำเลย แต่เป็นการบังคับความรับผิดแห่งหนี้ที่โจทก์กับจำเลยมีต่อกัน กรณีถือได้ว่าโจทก์อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจฟ้องจำเลยแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2541 จำเลยเป็นชู้กับภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ วันที่ 25 กรกฎาคม 2541 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยไม่ชดใช้กลับจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 4179 ตำบลปากพลี อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก เฉพาะส่วนของจำเลย และโฉนดเลขที่ 834 ตำบลปากพลี (เบ็ญพาศ) อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก เฉพาะส่วนของจำเลยให้แก่บุตรจำเลย เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2541 หลังจากนั้นวันที่ 11 สิงหาคม 2541 โจทก์จึงฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นเรียกค่าเสียหาย ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2541 ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 แล้ว
              โดยสรุปคือ มาตรา 350  บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ผู้ใดเพียงแต่รู้ว่าเจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ แล้วย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใด แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริง ก็ถือว่าเป็นความผิดตามมาตราดังกล่าวแล้ว ไม่จำต้องรอให้คดีที่ฟ้องถึงที่สุดก่อน ดังนั้น หากรู้ว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิทางศาล แล้วไปยักย้ายถ่ายโอนทรัพย์สิน จนไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะชำระหนี้ ก็เป็นความผิดตามมาตรานี้แล้ว

     
              กรณีแกล้งเป็นหนี้ อันไม่เป็นความจริง
              จำเลยที่ 1 และที่ 2 สมคบกันทำสัญญากู้ยืมเงินฉบับลงวันที่ 30 กันยายน 2541 จำนวนเงิน 500,000 บาท และฉบับลงวันที่ 30 เมษายน 2542 จำนวนเงิน 200,000 บาท โดยมิได้เป็นหนี้กันจริง แล้วดำเนินคดีและบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 42/2545 ของศาลชั้นต้นต่อที่ดินโฉนดเลขที่ 47781 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 เพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1142/2544 ของศาลชั้นต้น บังคับคดีต่อทรัพย์สินดังกล่าวได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการจงใจทำผิดกฎหมาย อันเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 สัญญากู้ยืมเงินทั้ง 2 ฉบับและสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 42/2545 ของศาลชั้นต้น จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โดยไม่ต้องเพิกถอน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 701/2553

     
              กรณีไม่ผิดฐานโกงเจ้าหนี้
              กรณียังไม่แน่ว่าเป็นเจ้าหนี้จริงหรือไม่ เนื่องจากมีประเด็นโต้แย้งเรื่องการเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทกันอยู่
              โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคดีแพ่งอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดิน ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ แต่ถูกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดินทับเอาที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้เพิกถอนการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 พร้อมบริวารรื้อถอนขนย้ายทรัพย์ออกไป และชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์จนกว่าจะส่งมอบที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ในสภาพเดิม  จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดินในที่ดินของตน มิได้ออกทับที่ดินของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง  ขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณา จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 ไป ในคดีแพ่งโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังโต้เถียงกันถึงความเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ตราบใดที่ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จึงยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าโจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในอันที่จะขอให้ศาลบังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ส่งมอบที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์หรือไม่ โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามความหมายของมาตรา 350 แห่ง ป.อ. ที่จะฟ้องจำเลยทั้งสาม  (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10314/2550)  
              กรณีที่ลูกหนี้ไม่รู้ว่าผู้เป็นเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาล          
              เมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ในคดีที่โจทก์ฟ้องให้ชำระหนี้เงินกู้และในที่สุด ศาลฎีกามีคำพิพากษาวินิจฉัยว่ามีเหตุให้พิจารณาใหม่ตามคำร้องของจำเลยที่ 1 โดยฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องให้ชำระหนี้เงินกู้ที่ศาลแพ่ง แต่เพิ่งมาทราบเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2540 ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเป็นอันยุติและผูกพันโจทก์กับจำเลยที่ 1 ผู้เป็นคู่ความด้วยเหตุนี้เอง การที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องว่าเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยทั้งสามร่วมกันโอนที่ดินพิพาททั้งสามแปลงในกรรมสิทธิ์ส่วนของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 แสดงให้เห็นว่าในวันตามฟ้องดังกล่าวจำเลยที่ 1 ยังไม่ทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องให้ชำระหนี้เงินกู้ ดังนั้น ในขณะเกิดเหตุตามฟ้อง จึงไม่อาจฟังเป็นยุติว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันโอนทรัพย์โดยรู้ว่าโจทก์ผู้เป็น เจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ทั้งนี้เพื่อมิให้โจทก์ได้ รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยทั้งสามมีเจตนาร่วมกันกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5175/2547)

     




    Please login for write message