0
สมาชิก
ค้นฎีกา
ศาลยุติธรรม
กระทรวงยุติธรรม
สภาทนายความ
กรมที่ดิน
กรมบังคับคดี
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
เกี่ยวกับสำนักงาน บริการของเรา ทนายความ ดาวน์โหลดกฏหมาย ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม
สถิติเว็บไซต์
เปิดเว็บเมื่อ : 2013-01-07
จำนวนสมาชิก : 436 คน
ปรับปรุงเมื่อ : 2024-03-14
จำนวนครั้งที่ชม : 7,513,058 ครั้ง
Online : 68 คน
Photo

    หน้าที่ความรับผิดของผู้เช่า


    ทนายกาญจน์
    (Admin)
    เมื่อ » 2023-02-09 17:17:39 (IP : , ,49.49.232.75 ,, Admin)
    หน้าที่และความรับผิดของผู้เช่า
    มาตรา ๕๕๒ อันผู้เช่าจะใช้ทรัพย์สินที่เช่าเพื่อการอย่างอื่นนอกจากที่ใช้กันตามประเพณีนิยมปกติ หรือการดังกำหนดไว้ในสัญญานั้น ท่านว่าหาอาจจะทำได้ไม่
    มาตรา ๕๕๓ ผู้เช่าจำต้องสงวนทรัพย์สินที่เช่านั้นเสมอกับที่วิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง และต้องบำรุงรักษาทั้งทำการซ่อมแซมเล็กน้อยด้วย
    มาตรา ๕๕๔ ถ้าผู้เช่ากระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติในมาตรา ๕๕๒ มาตรา ๕๕๓ หรือฝ่าฝืนข้อสัญญา ผู้ให้เช่าจะบอกกล่าวให้ผู้เช่าปฏิบัติให้ถูกต้องตามบทกฎหมายหรือข้อสัญญานั้นๆ ก็ได้ ถ้าและผู้เช่าละเลยเสียไม่ปฏิบัติตาม ท่านว่าผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้
    มาตรา ๕๕๕ ผู้เช่าจำต้องยอมให้ผู้ให้เช่าหรือตัวแทนของผู้ให้เช่าเข้าตรวจดูทรัพย์สินที่เช่าเป็นครั้งคราว ในเวลาและระยะอันสมควร
    มาตรา ๕๕๖ ถ้าในระหว่างเวลาเช่ามีเหตุจะต้องซ่อมแซมทรัพย์สินซึ่งเช่านั้นเป็นการเร่งร้อน และผู้ให้เช่าประสงค์จะทำการอันจำเป็นเพื่อที่จะซ่อมแซมเช่นว่านั้นไซร้ ท่านว่าผู้เช่าจะไม่ยอมให้ทำนั้นไม่ได้ แม้ถึงว่าการนั้นจะเป็นความไม่สะดวกแก่ตน ถ้าการซ่อมแซมเป็นสภาพซึ่งต้องกินเวลานานเกินสมควร จนเป็นเหตุให้ทรัพย์สินนั้นไม่เหมาะแก่การที่จะใช้เพื่อประโยชน์ที่เช่ามา ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้
    มาตรา ๕๕๗ ในกรณีอย่างใด ๆ ดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ(๑) ถ้าทรัพย์สินที่เช่านั้นชำรุดควรที่ผู้ให้เช่าจะต้องซ่อมแซมก็ดี(๒) ถ้าจะต้องจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อปัดป้องภยันตรายแก่ทรัพย์สินนั้นก็ดี(๓) ถ้าบุคคลภายนอกรุกล้ำเข้ามาในทรัพย์สินที่เช่าหรือเรียกอ้างสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งเหนือทรัพย์สินนั้นก็ดี
    ในเหตุดั่งกล่าวนั้นให้ผู้เช่าแจ้งเหตุแก่ผู้ให้เช่าโดยพลัน เว้นแต่ผู้ให้เช่าจะได้ทราบเหตุนั้นอยู่ก่อนแล้ว
    ถ้าผู้เช่าละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัตินี้ไซร้ ท่านว่าผู้เช่าจะต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าในเมื่อผู้ให้เช่าต้องเสียหายอย่างใด ๆ เพราะความละเลยชักช้าของผู้เช่านั้น
    มาตรา ๕๕๘ อันทรัพย์สินที่เช่านั้น ถ้ามิได้รับอนุญาตของผู้ให้เช่าก่อน ผู้เช่าจะทำการดัดแปลงหรือต่อเติมอย่างหนึ่งอย่างใดหาได้ไม่ ถ้าและผู้เช่าทำไปโดยมิได้รับอนุญาตของผู้ให้เช่าเช่นนั้นไซร้ เมื่อผู้ให้เช่าเรียกร้องผู้เช่าจะต้องทำให้ทรัพย์สินนั้นกลับคืนคงสภาพเดิมทั้งจะต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าในความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การดัดแปลงต่อเติมนั้นด้วย
    มาตรา ๕๕๙ ถ้าไม่มีกำหนดโดยสัญญาหรือโดยจารีตประเพณีว่าจะพึงชำระค่าเช่า ณ เวลาใด ท่านให้ชำระเมื่อสิ้นระยะเวลาอันได้ตกลงกำหนดกันไว้ทุกคราวไป กล่าวคือว่าถ้าเช่ากันเป็นรายปีก็พึงชำระค่าเช่าเมื่อสิ้นปี ถ้าเช่ากันเป็นรายเดือนก็พึงชำระค่าเช่าเมื่อสิ้นเดือน
    มาตรา ๕๖๐ ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้
    แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด ซึ่งพึงกำหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน
    มาตรา ๕๖๑ ถ้ามิได้ทำหนังสือลงลายมือชื่อของคู่สัญญาแสดงไว้ต่อกันว่าทรัพย์สินที่ให้เช่ามีสภาพเป็นอยู่อย่างไร ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้เช่าได้รับทรัพย์สินที่เช่านั้นไปโดยสภาพอันซ่อมแซมดีแล้ว และเมื่อสัญญาได้เลิกหรือระงับลง ผู้เช่าก็ต้องส่งคืนทรัพย์สินในสภาพเช่นนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินนั้นมิได้ซ่อมแซมไว้ดีในขณะที่ส่งมอบ
    มาตรา ๕๖๒ ผู้เช่าจะต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใดๆ อันเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เช่า เพราะความผิดของผู้เช่าเอง หรือของบุคคลซึ่งอยู่กับผู้เช่า หรือของผู้เช่าช่วง
    แต่ผู้เช่าไม่ต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่การใช้ทรัพย์สินนั้นโดยชอบ
    มาตรา ๕๖๓ คดีอันผู้ให้เช่าจะฟ้องผู้เช่าเกี่ยวแก่สัญญาเช่านั้นท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหกเดือนนับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่า
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 575/2560
                   คดีนี้ พ. เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนดเป็นผู้ทำสัญญาให้บริษัท บ. เช่า เป็นเวลา 30 ปี บริษัท บ. ตกลงชำระค่าหน้าดิน 87,500,000 บาท ในวันเดียวกัน พ. ทำหนังสือสัญญาให้สิทธิเก็บกินบนที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นหลาน และบริษัท บ. ตกลงจ่ายค่าหน้าดินและค่าเช่าให้แก่โจทก์ทั้งสามในฐานะผู้ทรงสิทธิเก็บกิน แต่เพิ่งไปจดทะเบียนสิทธิเก็บกินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายหลังจากที่มีการทำสัญญาเช่าแล้ว ดังนั้น ผู้มีเงินได้ตามสัญญาเช่า คือ พ. ซึ่งเป็นคู่สัญญาตามสัญญาเช่า โจทก์ทั้งสามเป็นเพียงผู้รับเงินค่าเช่าแทน พ. เท่านั้น
    พิพากษาศาลฎีกาที่ 6686/2559 คำ
                ผู้รับประกันภัยเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เอาประกันภัย เงื่อนไขที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด ถ้ามีข้อสงสัยต้องตีความให้เป็นประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัย ซึ่งตามเงื่อนไขความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ระบุว่า ผู้รับประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อรถยนต์สูญหาย โดยในกรณีรถยนต์สูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ และยักยอกทรัพย์ ผู้รับประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัย และมีข้อยกเว้นความรับผิดว่าการประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์ โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ หรือโดยบุคคลที่จะกระทำสัญญาดังกล่าวข้างต้น เงื่อนไขที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยนี้จึงต้องตีความโดยเคร่งครัดว่าหมายถึงความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์ ที่กระทำโดยบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายหรือครอบครองตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ เท่านั้น เนื่องจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์โดยบุคคลดังกล่าวสามารถกระทำได้โดยง่ายจึงมีความเสี่ยงสูง กรมธรรม์จึงไม่อาจให้ความคุ้มครองได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายเพราะถูก ว. ยักยอกไป ซึ่ง ว. เป็นผู้รับมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อจากจำเลยที่ 2 ผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เพื่อนำไปขาย กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามเงื่อนไขความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ดังกล่าว จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงไม่พ้นจากความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5234/2559
                  จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 15 อ้างว่าอยู่ในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิมาจากการที่ ม. เช่าที่พิพาทจากโจทก์ที่ 1 แล้วสืบสิทธิต่อเนื่องกันมา แต่มิได้มีหลักฐานเกี่ยวกับสัญญาเช่าหรือหลักฐานการชำระเงินค่าเช่ามาแสดง ทั้งยังได้ความว่า ม. ถึงแก่ความตายไปแล้ว สิทธิการเช่าที่พิพาทย่อมสิ้นสุดลง จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 15 จึงไม่อาจที่จะอ้างการสืบสิทธิของ ม. เพื่ออยู่ในที่พิพาทต่อไปได้ จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 เมื่อโจทก์ที่ 2 ได้ใช้สิทธิแห่งตนในการฟ้องคดี โดยมีโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทร่วมฟ้องขับไล่มาด้วย จึงเป็นการใช้สิทธิแห่งตนที่มีอยู่เพื่อขับไล่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 15 ผู้กระทำละเมิดได้ โจทก์ที่ 2 ทำสัญญาเช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากโจทก์ที่ 1 หนังสือมอบอำนาจ ย. ผู้ว่าการของโจทก์ที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้โจทก์ที่ 2 ฟ้องคดีนี้แทน โจทก์ที่ 2 ย่อมมีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 และที่ 13 กล่าวอ้างว่าอยู่ในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิของ ม. อันเป็นการอยู่โดยไม่มีสิทธิ จึงถือว่าเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สัญญาเช่าจากโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 มีสิทธิที่จะใช้ประโยชน์ในที่พิพาท จึงอยู่ในฐานะผู้ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการทำละเมิด เมื่อโจทก์ที่ 2 ฟ้องคดีร่วมกับโจทก์ที่ 1 อันเป็นการใช้สิทธิในกรณีที่ผู้เช่าไม่สามารถเข้าครอบครองทรัพย์สินที่เช่านั้นได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 477 และมาตรา 549 จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 และที่ 13 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในผลแห่งละเมิดตามพฤติการณ์ความร้ายแรงให้แก่โจทก์ที่ 2
     
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4900/2559
                เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์มิได้ผิดสัญญาเช่า จึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะใช้สิทธิเลิกสัญญาเช่า การที่จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ อย่างไรก็ตาม การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้จำเลยคืนเงินประกันและชดใช้เงินค่าปรับปรุงตึกแถวโดยมิได้ขอให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาต่อไป ถือได้ว่า โจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาเช่าด้วย จึงเป็นกรณีคู่สัญญาสมัครใจเลิกกันโดยปริยาย คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง แม้การปรับปรุงตึกแถวจะเป็นไปเพื่อประโยชน์และกิจการของโจทก์ แต่เนื่องจากจำเลยเป็นฝ่ายใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าก่อนโดยไม่มีสาเหตุอันควร ทำให้ต้องเลิกสัญญาเช่ากันในเวลาต่อมา และการงานที่โจทก์เข้าปรับปรุงตึกแถวเป็นการงานที่โจทก์ทำให้และจำเลยได้ครอบครองใช้ประโยชน์ โจทก์ชอบที่จะเรียกค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงตึกแถวพิพาทได้
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4810/2559
                 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยยินยอมให้บุคคลอื่นเข้ามาทำนาเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถใช้ที่ดินพิพาท กรณีไม่ใช่เรื่องผู้ให้เช่านาบอกเลิกการเช่านา ตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มาตรา 31 แต่เป็นเรื่องผู้ให้เช่าไม่ให้ผู้เช่าเข้าทำนา ซึ่งไม่มีบทบัญญัติใดให้ผู้เช่านาต้องคัดค้านต่อคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลเหมือนการบอกเลิกการเช่านาตามมาตรา 31 ซึ่งผู้ให้เช่านาต้องแจ้งเป็นหนังสือต่อผู้เช่านาและส่งสำเนาหนังสือต่อประธานคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบล โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3836/2559
                โจทก์เป็นเจ้าของสนามบิน โจทก์ทำสัญญาให้เช่าสนามบินระยะยาวกับกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์พร้อมกับสัญญาอื่น ๆ อีก 4 ฉบับ คือ สัญญาเช่าช่วงที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สัญญาให้บริการระบบ สัญญาตกลงกระทำการ หนังสือสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองในวันเดียวกัน เพื่อระดมเงินผ่านกองทุนรวมฯ เมื่อพิจารณาหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนที่ระบุว่ามีวัตถุประสงค์หลักในการนำเงินที่ได้จากการระดมเงินทุนจากผู้ลงทุนไปซื้อ เช่าและหรือ เช่าช่วงอสังหาริมทรัพย์ และจัดหาผลประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวโดยการให้เช่า ให้เช่าช่วง โอน และ/หรือจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ที่กองทุนรวมฯ ได้ลงทุน โดยกองทุนรวมฯ จะทำการลงทุนในสิทธิการเช่าระยะยาวในทรัพย์สินที่เช่าจากโจทก์ ได้แก่ ที่ดิน ทางวิ่ง และลานจอดเครื่องบิน และสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่เช่า ซึ่งปัจจุบันใช้ดำเนินการสนามบินสมุย โดยเข้าทำสัญญาเช่าระยะยาวและสัญญาตกลงกระทำการกับบางกอกแอร์เวย์ส ในขณะเดียวกันกองทุนรวมฯ ประสงค์ที่จะจัดหาผลประโยชน์โดยนำทรัพย์สินที่เช่านั้นออกให้โจทก์เช่าช่วงกลับไป และนโยบายการลงทุนครั้งแรกที่กองทุนรวมฯ ประกาศชี้ชวนผู้ลงทุนทั่วไปนั้นปรากฏข้อความชัดเจนว่า กองทุนรวมฯ จะทำการลงทุนในสิทธิการเช่าระยะยาวในทรัพย์สินที่เช่าจากโจทก์ อีกทั้งเป็นกองทุนรวมฯ ประเภทไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนที่มุ่งลงทุนโดยการเช่าอสังหาริมทรัพย์ จึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ลงทุน คงมีเพียงสิทธิในการนำอสังหาริมทรัพย์นั้นไปหาผลตอบแทนในช่วงระยะเวลาของสัญญาเช่าที่กองทุนรวมฯ ได้ตกลงไว้กับโจทก์ การที่กองทุนรวมฯ ทำสัญญาทั้งห้าฉบับกับโจทก์ จึงเป็นไปเพื่อสร้างหลักประกันและความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุนที่ซื้อหน่วยลงทุนว่า กองทุนรวมฯ จะนำเงินไปลงทุนในสิทธิการเช่าสนามบินสมุย โดยผู้ลงทุนจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการที่กองทุนรวมฯ นำทรัพย์สินที่เช่านั้นออกให้โจทก์เช่าช่วงกลับไป รวมทั้งได้รับประโยชน์ตอบแทนจากสัญญาให้บริการระบบรวมกันมีจำนวนเท่ากับร้อยละ 6 ของจำนวนเงินทุนของโครงการ ณ วันที่จดทะเบียนจัดตั้งกองทุนรวมฯ ดังที่ปรากฏในหนังสือชี้ชวน นอกจากนี้ตามสัญญาเช่าระยะยาว ยังระบุความประสงค์ของโจทก์ไว้ชัดเจน อันมีลักษณะเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ที่ผู้ให้เช่าตกลงให้ผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด และผู้เช่าตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้นตาม ป.พ.พ.มาตรา 537 ไม่อาจแปลความสัญญาเช่าระยะยาวดังกล่าวเป็นการกู้เงิน หรือเป็นสัญญาเช่าที่มิใช่สัญญาเช่าปกติทั่วไปได้
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14977/2558
                 พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 5 บัญญัตินิยามของคำว่า "โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ" ให้กินความถึงแพด้วยเท่านั้น มิได้กำหนดความหมายไว้โดยเฉพาะ หม้อแปลงไฟฟ้าพิพาทติดตั้งยึดติดอยู่บนคานปูนที่วางพาดระหว่างเสาไฟฟ้า เสาไฟฟ้าทั้งสองต้นหล่อด้วยปูนมีฐานติดตรึงถาวรอยู่กับพื้นดินจึงมีลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างหนึ่ง แม้หม้อแปลงไฟฟ้าติดตั้งอยู่บนคานปูน ไม่ได้ยึดติดกับพื้นดิน และสามารถเคลื่อนย้ายออกไปจากเสาไฟฟ้าได้ แต่โดยสภาพของหม้อแปลงไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ซึ่งต้องใช้ประจำอยู่กับเสาไฟฟ้าเพื่อประโยชน์ในการแปลงค่ากระแสไฟฟ้าจ่ายให้แก่โรงงาน ถือเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ ตามมาตรา 6 (1) การที่จำเลยกำหนดค่ารายปีในส่วนของหม้อแปลงไฟฟ้าโดยนำค่าเช่าที่โจทก์ได้รับมาเป็นเกณฑ์จึงเป็นไปตามมาตรา 8 วรรคสอง แล้ว
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13006/2558
                  ข้อตกลงจะเป็นสัญญาประเภทใดนั้น จะต้องดูจากเนื้อหาสาระของข้อตกลงเป็นสำคัญ หาใช่ดูแต่เพียงชื่อของสัญญา เมื่อตามสัญญาเช่ามีข้อตกลงกำหนดให้โจทก์มีหน้าที่จัดหาวัสดุปูพื้นคลังสินค้า จัดหาคนงานขนข้าวสารให้แก่ผู้เช่า จัดเตรียมคลังสินค้าตามสัญญาให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยพร้อมที่จะเก็บข้าวสารของผู้เช่าได้ทันที อีกทั้งให้โจทก์เป็นผู้จัดหายามเพื่อรักษาความปลอดภัย ข้อสัญญาทั้งหลายเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า โจทก์มิได้ส่งมอบให้ผู้เช่าครอบครองและมีอิสระในการใช้คลังสินค้าเองเยี่ยงสิทธิของผู้เช่าอสังหาริมทรัพย์ทั่วไป แต่โจทก์ยังคงเป็นผู้ควบคุมดูแลและดำเนินการต่างๆ ภายในคลังสินค้าที่ให้เช่าอยู่โดยตลอดในแต่ละขั้นตอน เพื่อที่โจทก์จะได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อรักษาสินค้าของโจทก์ในฐานะเป็นผู้มีวิชาชีพในกิจการค้าขายของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 659 วรรคสาม ข้อตกลงตามสัญญาดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาฝากทรัพย์ อันถือเป็นการให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9535/2558
                   ผู้ร้องเป็นผู้ถูกอายัดสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดิน ซึ่งผู้ร้องจะต้องส่งมอบเงินค่าเช่าที่ดินให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี ณ เวลา หรือภายในเวลาตามที่กำหนดไว้ในคำสั่ง และเป็นลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องที่มีการอายัด จึงถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 280, 311 ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้อง เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดินของจำเลยที่ 2 มิได้อายัดที่ดินดังกล่าว จึงไม่ต้องห้ามที่จำเลยที่ 2 จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้องให้แก่บุคคลภายนอก เมื่อจำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกแล้ว สิทธิในเงินค่าเช่าที่ดินย่อมโอนไปยังบุคคลภายนอกนับแต่วันที่จดทะเบียนการโอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 569 วรรคสอง จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิรับเงินค่าเช่าอีกต่อไป จึงมีเหตุที่จะต้องเพิกถอนการอายัดสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดินดังกล่าว
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6429/2558
                   ในการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของ ต. ฝ่ายโจทก์ทั้งสองตกลงให้ตั้งจำเลยที่ 1 และฝ่ายจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตกลงให้ตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก ต. ข้อตกลงดังกล่าวเพื่อให้มีตัวแทนของแต่ละฝ่ายเป็นผู้รักษาผลประโยชน์ส่วนของตนในกองมรดกของ ต. เมื่อก่อนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารพิพาทแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเดิมจำเลยที่ 2 บ. สามีโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 2 นำที่ดินและอาคารดังกล่าวออกให้เช่า เมื่อใกล้ครบสัญญาเช่า ผู้เช่าทำหนังสือถึงโจทก์ที่ 2 ขอทำสัญญาเช่าต่อพร้อมขออนุญาตปรับปรุงอาคารที่เช่า โจทก์ที่ 2 จึงมีหนังสือถึงจำเลยที่ 3 ให้เป็นผู้ตกลงกับผู้เช่าเอง ต่อมาจำเลยที่ 3 จึงเป็นผู้ให้เช่าแทนโจทก์ที่ 2 อีก 2 ครั้ง เป็นเวลา 6 ปี ซึ่งโจทก์ที่ 2 ยอมรับว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้เก็บค่าเช่าเองโดยโจทก์ที่ 2 ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวเลย โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ต. ยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินพิพาทแทนฉบับเดิมที่สูญหาย ซึ่งโจทก์ที่ 2 ยอมรับว่าเดิม บ. เป็นผู้เก็บโฉนดดังกล่าวไว้ แต่ขณะออกโฉนดที่ดินฉบับใหม่ บ. ถึงแก่ความตายแล้ว ดังนั้น หากโจทก์ที่ 2 มิได้รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ต. โอนที่ดินพิพาทพร้อมมอบโฉนดที่ดินให้ไปดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่สามารถดำเนินการเองโดยลำพัง พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โจทก์ทั้งสองในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของ บ. ยินยอมแบ่งที่ดินพร้อมอาคารพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของ ต. ให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งจำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็เข้าครอบครองทรัพย์มรดกเป็นส่วนสัดตาม ป.พ.พ. 1750 วรรคหนึ่ง โดยการนำออกให้เช่าและเก็บค่าเช่ามาโดยตลอด โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจเรียกให้นำที่ดินและอาคารพิพาทมาแบ่งแก่โจทก์ทั้งสองได้อีก
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5896/2558
                  สัญญาเช่าข้อ 7 ระบุว่า สมาชิกต้องไม่นำรถยนต์ไปให้ผู้อื่นขับขี่เป็นอันขาด แสดงว่าจำเลยที่ 2 ทราบแต่แรกว่าไม่สามารถนำรถของตนให้ผู้อื่นหรือจำเลยที่ 1 เช่า สัญญาดังกล่าวนี้จึงเป็นการทำขึ้นเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการนำรถออกรับจ้างเท่านั้น เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ทำสัญญายอมผูกพันให้จำเลยร่วมที่ 2 ใช้รอยตราหรือเครื่องหมายและคำว่า "สหกรณ์แท็กซี่รวมมิตร จก" ไว้ที่ด้านข้างของรถแท็กซี่เพื่อออกแล่นรับผู้โดยสารในนามของจำเลยที่ 2 โดยเปิดเผย จำเลยร่วมที่ 2 เป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 การนำรถแท็กซี่เข้าร่วมเป็นกิจการและตรงตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงได้ผลประโยชน์จากการที่จำเลยที่ 1 ขับรถแท็กซี่ที่มีตราของจำเลยที่ 2 ออกแล่นรับจ้าง จำเลยร่วมที่ 2 เจ้าของรถย่อมต้องได้รับผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 2 ได้เชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทน จำเลยร่วมที่ 2 และจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วยเช่นกัน
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5791/2558
                 คดีโจทก์ในส่วนค่าซ่อมรถยกและค่าเสื่อมราคา เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายของทรัพย์สินที่เช่าอันเกิดขึ้นก่อนสัญญาเช่าเลิกกัน ตามสัญญาเช่าที่กำหนดให้จำเลยผู้เช่าต้องรับผิดในความเสียหายนั้น จึงเป็นกรณีฟ้องเกี่ยวแก่สัญญาเช่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 563 มีอายุความ 6 เดือน นับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่า
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3464/2558
                 พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ.2547 มาตรา 4 โรงแรม หมายความว่า สถานที่พักที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในทางธุรกิจเพื่อให้บริการที่พักชั่วคราวสำหรับคนเดินทางหรือบุคคลอื่นใดโดยมีค่าตอบแทน ดังนี้ สถานที่อื่นทำนองเช่นว่านั้น ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 674 จะต้องเป็นสถานที่ซึ่งให้บริการทำนองเดียวกันกับโรงแรมหรือโฮเต็ล คือเป็นสถานที่ซึ่งมีลักษณะให้บริการเป็นที่พักชั่วคราวสำหรับคนเดินทางหรือบุคคลอื่นใด สำหรับอพาร์ตเม้นท์ของจำเลยนั้น ศ. เช่าห้องพักของจำเลยสำหรับอยู่อาศัยและเพื่อความสะดวกในการเดินทางไปสถานศึกษา แม้จะมีบุคคลอื่นเช่าห้องพักดังกล่าวในลักษณะเดียวกัน แต่เห็นได้ว่าการให้บริการห้องพักของจำเลยมีลักษณะเป็นการให้เช่าพักอยู่อาศัยโดยคิดค่าบริการเป็นรายเดือนขึ้นไปเท่านั้น มิใช่เป็นการให้เช่าบริการที่พักชั่วคราวสำหรับคนเดินทางหรือบุคคลใด ดังนี้ การประกอบธุรกิจของจำเลยดังกล่าวจึงไม่เข้าลักษณะสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านั้น กล่าวคือ เช่นดังเจ้าสำนักโรงแรมหรือโฮเต็ลที่จะนำบทบัญญัติวิธีเฉพาะสำหรับเจ้าสำนักโรงแรมตาม ป.พ.พ. มาใช้บังคับให้จำเลยต้องรับผิดตามคำฟ้องของโจทก์ได้
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2848 - 2849/2558
                   บริษัท บ. จำกัด ต้องการที่จะใช้รถเครนและรถขุดพิพาท จำเลยที่ 1 ซึ่งต้องการขายรถเครนและรถขุดพิพาทจึงติดต่อกับโจทก์ที่เป็นแหล่งเงินทุนให้ซื้อรถเครนและรถขุดพิพาทเพื่อนำออกให้บริษัท บ. จำกัด เช่าแบบลิสซิ่ง แต่เนื่องจากโจทก์ไม่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับด้านเทคนิคของรถเครนและรถขุดพิพาท โจทก์จึงให้จำเลยที่ 1 รับผิดชอบด้วยการซื้อกลับคืนเท่ากับค่าเช่าที่ค้างชำระทั้งหมดหากบริษัท บ. จำกัด ผิดสัญญาเช่า ซึ่งจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 6 ก็ตกลง โจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเข้าทำสัญญาซื้อขายรถเครนและรถขุดพิพาทและทำสัญญาซื้อกลับคืนในวันเดียวกัน แล้วโจทก์นำรถเครนและรถขุดพิพาทออกให้บริษัท บ. จำกัด เช่าตามสำเนาแบบคำขอให้บริการเช่าโดยมีบริษัท ส. จำกัด และ ส. เป็นผู้ค้ำประกันการเช่ารถของบริษัท บ. จำกัด ดังกล่าว ในการนี้โจทก์ได้รับประโยชน์ที่รวมอยู่ในค่าเช่า และจำเลยที่ 1 ได้กำไรจากการขายรถดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามวิธีการประกอบธุรกิจการค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามปกติ และคู่กรณีต่างมีเจตนาเข้าทำสัญญาซื้อกลับคืนอย่างแท้จริงโดยทราบและเข้าใจวัตถุประสงค์ของการทำสัญญาว่า สัญญาซื้อกลับคืนเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์แยกต่างหากจากสัญญาเช่าและสัญญาซื้อขายฉบับเดิม ดังจะเห็นได้จากสัญญาซื้อกลับคืนเป็นนิติกรรมที่มีเงื่อนไขบังคับก่อน กล่าวคือ หากเกิดกรณีที่บริษัท บ. จำกัด ผู้เช่าผิดสัญญาเช่า สัญญาซื้อกลับคืนจึงมีผลบังคับ กับมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนแตกต่างจากสัญญาค้ำประกันโดยแจ้งชัด และภายหลังจากที่บริษัท บ. จำกัด ผิดสัญญาเช่า จำเลยที่ 1 ก็เข้าผ่อนชำระหนี้คืนให้แก่โจทก์ตามสัญญาซื้อกลับคืนและหนังสือรับสภาพหนี้ติดต่อตลอดเรื่อยมาจนถึงปี 2549 เป็นเงินรวม 40 ล้านบาทเศษและขอให้โจทก์ฟ้องบริษัท บ. จำกัด เพื่อจะได้นำเงินมาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อไปตามสัญญาซื้อกลับคืนด้วย ซึ่งโดยสภาพแห่งสัญญาดังกล่าวมิใช่เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยที่ 1 แสร้งแสดงเจตนาเข้าทำนิติกรรมแต่อย่างใด สัญญาซื้อกลับคืนจึงมิใช่นิติกรรมที่ทำขึ้นเพื่ออำพรางสัญญาค้ำประกันหรือสัญญารับสภาพหนี้ สัญญาดังกล่าวจึงมีผลผูกพันคู่สัญญาตามกฎหมาย หาตกเป็นโมฆะไม่
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1939/2558
               เมื่อข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า โจทก์ไม่เคยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่โจทก์มีสิทธิการเช่า เพราะจำเลยครอบครองอยู่ก่อนแล้ว โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยไม่ได้เพราะไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน การที่จำเลยจอดรถในที่ดินพิพาทโดยไม่ปรากฏว่าได้รับอนุญาตจากการรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จึงเป็นการละเมิดต่อการรถไฟแห่งประเทศไทย หาใช่ละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ชอบที่จะฟ้องขับไล่และขอให้ศาลเรียกการรถไฟแห่งประเทศไทยเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมซึ่งจะมีผลทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1323/2558
                  สัญญาเช่า ข้อ 22 ระบุว่า เมื่อสัญญาเช่าระงับลง ผู้เช่าต้องส่งมอบทรัพย์สินแก่ผู้ให้เช่าโดยพลัน หากไม่ดำเนินการผู้เช่ายินยอมให้ค่าเสียหายแก่ผู้ให้เช่าเป็นเงินวันละ 5,000 บาท ต่อคูหา นับแต่วันที่สัญญาเช่าระงับจนถึงวันที่ผู้เช่าส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าคืนเสร็จเรียบร้อย หรือวันที่ผู้ให้เช่าได้เข้าครอบครองทรัพย์สินที่เช่าแล้วแต่กรณี ถือว่าสัญญาเช่าได้กำหนดค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้า อันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 380 วรรคสอง บัญญัติว่า เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายก็ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการให้เช่าอาคารพาณิชย์บริเวณพิพาทเป็นคูหาละ 154,200 บาท ต่อเดือน ใกล้เคียงกับเบี้ยปรับตามสัญญา จึงชอบด้วยเหตุผล
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1278/2558
                 ส. บิดาโจทก์เช่าที่พิพาทซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุจากกรมธนารักษ์ และ ส. อนุญาตให้จำเลยอยู่อาศัยในที่พิพาท ต่อมา ส. ถึงแก่ความตาย โจทก์ทำสัญญาเช่าที่พิพาทจากกรมธนารักษ์ต่อจาก ส. โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยอยู่อาศัยในที่พิพาทอีกต่อไปจึงฟ้องให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่พิพาท แม้โจทก์ในฐานะผู้เช่าจะมีสิทธิเข้าใช้สอยทำประโยชน์ในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิแห่งสัญญาเช่าก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เคยเข้าครอบครองที่พิพาทตามสัญญาเช่ามาก่อน และจำเลยอยู่ในที่พิพาทก็โดยอาศัยสิทธิการเช่าของ ส. ผู้เช่าเดิมไม่ได้อาศัยสิทธิโจทก์ การที่จำเลยอยู่ในที่พิพาทโดยไม่ได้รับอนุญาตจึงเป็นการละเมิดต่อกรมธนารักษ์เจ้าของที่พิพาท หาใช่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่ารายใหม่ไม่ โจทก์ก็ไม่ได้ขอให้ศาลเรียกกรมธนารักษ์ผู้ให้เช่าเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 477 ประกอบมาตรา 545 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้โดยลำพัง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยเพิ่งกล่าวอ้างในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 990 - 991/2558
                แม้การเช่าของจำเลยถือเป็นการเช่าช่วงโดยชอบเพราะโจทก์ร่วมตกลงให้บริษัท ว. นำห้องเช่าพิพาทออกให้เช่าช่วงได้ แต่เมื่อโจทก์ร่วมกับบริษัท ว. ได้เลิกสัญญาเช่ากันแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิอยู่ในห้องเช่าพิพาทต่อไป เนื่องจากจำเลยเป็นผู้เช่าช่วงย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าบริษัท ว. ผู้เช่าเดิม และเหตุที่ห้องเช่าพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมก็เป็นไปตามข้อตกลงการเช่า ไม่ใช่เป็นกรณีโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์ที่เช่าไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 569 จำเลยไม่อาจยกสัญญาเช่าช่วงขึ้นอ้างต่อโจทก์เพื่อครอบครองห้องเช่าพิพาทได้ โจทก์ร่วมมีสิทธิขอให้ขับไล่จำเลยออกจากห้องเช่าพิพาทได้ แต่โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย เนื่องจากตามคำร้องขอของโจทก์ร่วมมิได้ขอให้จำเลยชำระค่าเสียหาย
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18830/2557
                 การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดินพิพาทจากการรถไฟแห่งประเทศไทยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทไม่ได้ เนื่องจากจำเลยจ้างคนงานมาสร้างรั้วลวดหนามในที่ดินพิพาทปิดกั้นทางเข้าออกของโจทก์สู่ทางสาธารณะนั้น ย่อมเป็นการรอนสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิดำเนินคดีแก่จำเลย โดยยื่นคำฟ้องพร้อมกับคำร้องขอให้เรียกผู้ให้เช่า คือการรถไฟแห่งประเทศไทยเข้ามาร่วมเป็นโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 477 ประกอบมาตรา 549 ดังนั้น ศาลชั้นต้นชอบที่จะเรียกการรถไฟแห่งประเทศไทยผู้ให้เช่าเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3)
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16527/2557
                   ตาม ป.พ.พ. มาตรา 546 บัญญัติว่า "ผู้ให้เช่าจำต้องส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้เช่านั้นในสภาพอันซ่อมแซมดีแล้ว" บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการยืนยันหน้าที่ของผู้ให้เช่าในอันที่จะต้องให้ผู้เช่าได้ใช้สอยหรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่า โจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าจึงมีหน้าที่ต้


    Please login for write message