0
สมาชิก
ค้นฎีกา
ศาลยุติธรรม
กระทรวงยุติธรรม
สภาทนายความ
กรมที่ดิน
กรมบังคับคดี
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
เกี่ยวกับสำนักงาน บริการของเรา ทนายความ ดาวน์โหลดกฏหมาย ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม
สถิติเว็บไซต์
เปิดเว็บเมื่อ : 2013-01-07
จำนวนสมาชิก : 436 คน
ปรับปรุงเมื่อ : 2024-03-14
จำนวนครั้งที่ชม : 7,514,379 ครั้ง
Online : 49 คน
Photo

    ความผิดฐานแจ้งความเท็จ


    ทนายกาญจน์
    (Admin)
    เมื่อ » 2023-05-01 16:34:12 (IP : , ,49.49.243.178 ,, Admin)
    ความผิดฐานแจ้งความเท็จ
         การแจ้งความเท็จต่อพนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
    มาตรา 172 ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา      ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
                    มาตรา 173 ผู้ใดรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แจ้งข้อความแก่พนักงาน สอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่า ได้มีการกระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท
                   นอกจากนี้ การแจ้งความเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา หากกระทำเพื่อจะแกล้งให้บุคคลต้องถูกบังคับตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย หรือเป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษ หรือรับโทษหนักขึ้นย่อมมีความผิดตามมาตรา 174 กล่าวคือ
                    มาตรา 174 ถ้าการแจ้งข้อความตามมาตรา 172 หรือมาตรา 173 เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องถูกบังคับตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท
                    ถ้าการแจ้งตามความในวรรคแรก เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
                  แจ้งความเท็จ ตาม ป.อ. มาตรา 137 แตกต่างอย่างไรกับการแจ้งความเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา ป.อ. มาตรา 172, 173, 174 และ ความผิดใดเป็นบทเฉพาะ ความผิดใดเป็นบททั่วไป
    ป.อ. มาตรา 172, 173, 174  แจ้งความเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา
    ป.วิ.อ. มาตรา 15  ให้นำ ป.วิ.พ. มาใช้ใน ป.วิ.อ.
     1. พนักงานอัยการจังหวัดมหาสารคามเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยว่าเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2554 เวลากลางวัน จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่ พันตำรวจโท พ. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนคดีอาญา ประจำสถานีตำรวจภูธรกู่ทอง จังหวัดมหาสารคาม ว่า ได้มีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้น กล่าวคือจำเลยแจ้งความว่า “เห็นเพียงพลทหารพนมกร คนเดียวซึ่งนั่งรถกระบะด้านหลัง กระโดดจากกระบะรถไปที่รถจักรยานยนต์คันดังกล่าว ข้าฯ ได้ยินเสียงดังคล้ายรถล้มทางหลังรถยนต์ฝั่งตรงข้ามในระยะ 8 ถึง 10 เมตร แล้วพลทหารพนมกรรีบวิ่งกลับมาขึ้นรถ” ซึ่งมีพยานคนอื่นเห็นคนวิ่งลงจากรถยนต์คันดังกล่าวและโดยเจตนาฆ่าได้ทำร้ายร่างกายเด็กชาย ฉ. จนถึงแก่ความตาย การแจ้งข้อความดังกล่าวของจำเลยเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยเห็นเพียงพลทหารพนมกรลงไปปัสสาวะ ไม่เห็นพลทหารพนมกรกระโดดจากรถกระบะไปยังรถจักรยานยนต์ ไม่ได้ยินเสียงรถจักรยานยนต์ล้ม พลทหารพนมกรก็มิได้เป็นผู้กระทำความผิดอาญาแต่ประการใด การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยดังกล่าวทำให้พันตำรวจโท พ. และพลทหารพนมกรเสียหายโดยเป็นการเพื่อจะแกล้งให้พลทหารพนมกรต้องรับโทษในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นซึ่งมีระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 15 ปี ถึง 20 ปี เหตุเกิดที่ตำบลกู่ทอง อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 172, 174, 181
     1.1 พนักงานอัยการจะมีอำนาจเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28(1) ได้ ต้องมีการสอบสวนในความผิดนั้นมาโดยชอบแล้ว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 (การสอบสวนโดยชอบประกอบไปด้วยหลัก คน  ท้อง  ชอบ  ร้อง  หา)
     1.2 การบรรยายฟ้องของพนักงานอัยการเช่นนี้เป็นการปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158(5) ซึ่งมีหลักการว่าต้องบรรยายให้ครบองค์ประกอบของความผิด
     1.3 คำขอท้ายฟ้อง คือ การขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 172, 174, 181 เป็นการปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158(6)
     2. จำเลยให้การปฏิเสธแต่ก่อนสืบพยาน จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
     2.1 ผลการรับสารภาพของจำเลยเช่นนี้ ส่งผลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 คือ ศาลต้องพิจารณาต่อไปว่าจะพิพากษาคดีไปเลยหรือจะต้องสืบพยานประกอบก่อน ซึ่งศาลจะต้องพิจารณาอัตราโทษตามคำขอท้ายฟ้องว่า มีการกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ 5 ปีหรือไม่ ซึ่งเมื่อพิจารณาอัตราโทษดังกล่าวปรากฏว่าไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำให้จำคุกตั้งแต่ 5 ปี ดังนั้นศาลจึงมีอำนาจพิพากษาคดีนี้ได้โดยไม่ต้องสืบพยานประกอบ (ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 นี้ จะนำไปใช้กับการพิจารณาคดีอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดไม่ได้เพราะคดีประเภทนี้ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดียาเสพติดโดยเฉพาะ)
     2.2 ในทางปฏิบัติเมื่อจำเลยขอถอนคำให้การเดิมที่ปฏิเสธเป็นให้การรับสารภาพนั้นศาลจะต้องให้จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การและเมื่อจำเลยยื่นคำร้องเสร็จแล้วศาลจะสั่งคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยทำนองว่า “สอบจำเลยแล้วยืนยันตามนี้ อนุญาตให้จำเลยถอนคำให้การเดิม รับคำให้การใหม่ของจำเลย สำเนาให้โจทก์”
     3. ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 172 ประกอบมาตรา 174 วรรคสอง และมาตรา 181(2) จำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน
     3.1 ผลของคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเช่นนี้ จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ
     3.2 หลักการอุทธรณ์ จำเลยจะต้องโต้แย้งเหตุผลของการพิพากษาของศาลชั้นต้น
     3.3 จำเลยจะต้องยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนด 1 เดือนตามเงื่อนไขตาม ป.วิ.อ. มาตรา 198
     4. เมื่อจำเลยยื่นอุทธรณ์แล้วศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย 2 ปี เมื่อลดโทษตาม ป.อ. มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่งแล้วคงจำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
     4.1 ผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เช่นนี้ ถือว่า ศาลอุทธรณ์แก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพียงเล็กน้อย เพราะศาลอุทธรณ์แก้ไขเพียงโทษไม่ได้แก้บทความผิด
     4.2 เมื่อศาลอุทธรณ์แก้ไขคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเล็กน้อยเช่นนี้ส่งผลให้คดีของจำเลยต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคแรกทันที
     4.3 หากจำเลยประสงค์จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องดำเนินการขอให้ผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221
     5. จำเลยยื่นฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาของศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
     5.1 หลักการอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลจะอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในประเด็นซึ่งมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่ได้
     6. จำเลยยื่นฎีกาว่า เจ้าพนักงานตำรวจเป็นผู้เรียกจำเลยไปให้ถ้อยคำเองและเป็นผู้ตั้งคำถามเอง จำเลยไม่ได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จว่าพลทหารพนมกรกระทำความผิดอาญา
     6.1 ศาลฎีกาพิจารณาฎีกาของจำเลยแล้วเห็นว่า จำเลยให้การรับสารภาพข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ฎีกาของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงซึ่งขัดกับคำรับสารภาพของจำเลยและเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
     6.2 ส่วนที่จำเลยขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่พันตำรวจโท พ. เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนคดีอาญา ว่าได้มีการกระทำผิดอาญาเกิดขึ้น โดยแกล้งให้พลทหารพนมกรต้องรับโทษในข้อหาความผิดที่มีระวางโทษถึงประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต นับว่าเป็นการกระทำที่ไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น กระทบกระเทือนต่อกระบวนการยุติธรรม พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยจะชดใช้ค่าเสียหายจนพลทหารพนมกรไม่ติดใจดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาแก่จำเลย หรือจำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนมีภาระต้องดูแลบุคคลในครอบครัวหรือมีเหตุอื่นดังที่จำเลยอ้างในฎีกาก็ไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรอการลงโทษให้แก่จำเลย
    หมายเหตุ
     1. หลักกฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานแจ้งความเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา ประกอบไปด้วย
     1.1 แจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย (มาตรา 172)
     1.2 รู้ว่ามิได้มีการกระทำผิดอาญาเกิดขึ้น แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่าได้มีการกระทำความผิด (มาตรา 173)
     1.3 ถ้าการแจ้งข้อความตามมาตรา 172 หรือ มาตรา 173 เพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น (มาตรา 174 วรรคสอง)
     2. การแจ้งความเท็จตามมาตรา 172 แตกต่างจากการแจ้งความเท็จตามมาตรา 137 กล่าวคือ มาตรา 137 เป็นการแจ้งความเท็จในเรื่องทั่วๆ ไป ส่วนมาตรา 172 เป็นการแจ้งความเท็จเฉพาะที่เกี่ยวกับความผิดอาญาเท่านั้น
     3. การแจ้งความเท็จตามมาตรา 137 เป็นการแจ้งแก่เจ้าพนักงานทั่วๆไป ไม่จำกัดประเภทของเจ้าพนักงาน แต่มาตรา 172 จำกัดเฉพาะการแจ้งความแก่พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา
     4. ผู้แจ้งความเท็จว่าผู้อื่นลักทรัพย์มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 172, 173 ส่วนผู้ที่ให้การเป็นพยานในชั้นสอบสวนมีความผิดฐานแจ้งความเท็จตามมาตรา 137 ให้พิจารณาศึกษาจากฎีกาต่อไปนี้
    คำพิพากษาฎีกาที่ 1706/2546      
    ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย, 195 วรรคสอง, 225
    ป.อ. มาตรา 137, 172
     เมื่อมันสำปะหลังที่ขุดเป็นของโจทก์ที่ 1 ที่ปลูกในที่ดินเกิดเหตุ โดยจำเลยทั้งสองมิได้เป็นผู้ปลูก การที่จำเลยที่ 1 ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์ทั้งสี่ลักทรัพย์มันสำปะหลังที่ตนปลูกจึงเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวนซึ่งทำให้โจทก์ทั้งสี่เสียหาย จำเลยที่ 1 ย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 หาใช่เป็นเรื่องขาดเจตนาไม่ ส่วนจำเลยที่ 2ไปให้การเป็นพยานต่อพนักงานสอบสวนยืนยันว่าตนร่วมปลูกมันสำปะหลังกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นความเท็จ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 จะได้มีเจตนาร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 2 คงเป็นเพียงความผิดฐานแจ้งความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ซึ่งมีอัตราโทษเบากว่าเท่านั้น ปัญหานี้แม้จะไม่มีฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้อง และกำหนดโทษให้เหมาะสมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225,192 วรรคท้าย
    คำพิพากษาฎีกาที่ 3702/2526      
    ป.อ. มาตรา 172, 174, 181 
    ความสำคัญของคดีแจ้งความเท็จอยู่ที่ว่า  จำเลยเห็นเหตุการณ์การกระทำผิดของผู้อื่นตามที่ให้การต่อพนักงานสอบสวนหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ว่าผู้อื่นกระทำผิดหรือไม่  เพราะแม้ผู้อื่นกระทำผิดจริง แต่ถ้าจำเลยไม่เห็นการกระทำผิดแล้วบังอาจให้การว่าเห็น ก็มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ
    การที่จำเลยให้การเท็จว่าเห็นเหตุการณ์แล้วขอถอนคำให้การอ้างว่าที่ให้การไว้เพราะได้รับการเสื้ยมสอน  จำเลยก็ยังมีความผิดฐานแจ้งความเท็จตาม ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา172, 174
    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา181(2) ข้อความที่ว่าเป็นการกระทำในกรณีแห่งข้อหา ว่าผู้อื่นกระทำความผิดที่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีขึ้นไปนั้น หมายถึง อัตราโทษขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดไว้
     5. ความผิดตามมาตรา 172 เป็นความผิดบทเฉพาะซึ่งเมื่อเป็นความผิดบทเฉพาะแล้วก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 137 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก ให้พิจารณาศึกษาจากฎีกาต่อไปนี้
    คำพิพากษาฎีกาที่ 2027/2526      
    ป.อ. มาตรา 137, 172 
    รถยนต์บรรทุกชนรถยนต์โดยสารตู้บนทางหลวง เป็นเหตุให้บุตรโจทก์และผู้อื่นในรถยนต์โดยสารตู้ถึงแก่ความตาย จำเลยซึ่งเป็นตำรวจทางหลวงได้ขับรถปฏิบัติหน้าที่มาถึงที่เกิดเหตุหลังจากเกิดเหตุแล้ว และมิได้เห็นเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุรถชนกันการที่จำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยเห็นเหตุการณ์ขณะที่รถชนกัน โดยขณะเกิดเหตุจำเลยขับรถวิทยุตำรวจทางหลวงตามหลังรถบรรทุกมา และได้เห็นรถโดยสารตู้พุ่งชนรถบรรทุกในช่องทางเดินรถของรถบรรทุกจึงเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวนซึ่งอาจทำให้โจทก์เสียหายการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172
    เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 172 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเฉพาะแล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา137ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานทั่วๆ ไปอีก
     6. ความผิดฐานแจ้งความเท็จตามมาตรา 172 จะเป็นความผิดสำเร็จเมื่อพนักงานสอบสวนได้ทราบข้อความที่จำเลยแจ้ง ให้พิจารณาศึกษาจากฎีกาต่อไปนี้
    คำพิพากษาฎีกาที่ 1076/2551      
    ป.อ. มาตรา 174 
              การกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 172 และมาตรา 174 วรรคสอง เป็นความผิดสำเร็จเมื่อพนักงานสอบสวนได้ทราบข้อความที่จำเลยแจ้ง พนักงานสอบสวนจะทราบว่าข้อความที่จำเลยแจ้งเป็นความเท็จหรือไม่ คดีที่ผู้ต้องหาถูกฟ้องว่ากระทำความผิดเนื่องจากการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยนั้นศาลจะมีคำพิพากษาอย่างไร และถึงที่สุดแล้วหรือไม่ มิใช่ข้อสำคัญที่จะฟังว่าจำเลยกระทำความผิหรือไม่
                  คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9556/2558  การเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงข้อบังคับหรือข้อความในหนังสือบริคณห์สนธิ ป.พ.พ. มาตรา 1145 และมาตรา 1146 กำหนดว่าจะกระทำได้ต่อเมื่อมีการลงมติพิเศษ ซึ่งจะต้องมีการประชุมใหญ่โดยมีคำบอกกล่าวเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อลงมติพิเศษ และกำหนดให้เป็นหน้าที่ของบริษัทจะต้องจัดให้ไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้มีการลงมติพิเศษ และเหตุที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของบริษัทจะต้องนำเรื่องไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญเพราะมีผลกระทบต่อบุคคลภายนอก กรณีที่จำต้องใช้เอกสารยืนยันภูมิลำเนาคือ สำนักงานแห่งใหญ่ของนิติบุคคลเป็นพยานหลักฐานที่มีการรับรองโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งกิจการของบริษัท บ. ก็มิได้เป็นเพียงนิติบุคคลที่จดทะเบียนเพื่อดำเนินกิจการเกี่ยวข้องแต่เฉพาะบุคคลในเครือญาติของจำเลย หากแต่ต้องติดต่อกับนิติบุคคลหรือบุคคลอื่นด้วย จำเลยจะอ้างความเคยชิน และความไว้วางใจระหว่างเครือญาติของจำเลยมาเป็นข้อยกเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎหมายไม่ได้
              การที่จำเลยมอบอำนาจให้ทนายความไปยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ และแจ้งย้ายที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของบริษัท บ. ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทโดยอ้างว่าจำเลยได้บอกกล่าวนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2552 โดยลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์และส่งมอบให้ผู้ถือหุ้น และที่ประชุมวิสามัญมีมติพิเศษให้แก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ และย้ายที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของบริษัทจากเดิมที่ตั้งอยู่กรุงเทพมหานครไปที่จังหวัดราชบุรีโดยไม่เป็นความจริง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 137 และมาตรา 267
                  แม้ทำเอกสารในหน้าที่ไม่ตรงกับความจริงและใช้หรืออ้างเอกสารดังกล่าวต่อผู้บังคับบัญชา ก็ไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน เพราะเพราะจำเลยเป็นผู้บันทึกข้อความลงในเอกสารต่าง ๆ ด้วยตนเอง โดยจำเลยมิได้เป็นผู้แจ้งข้อความดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานอื่นแต่อย่างใด
              คำพิพากษาศาลฎีกาที่  15248 - 15249/2557   จำเลยมีหน้าที่รับผิดชอบในงานเบิก - จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ตรวจสอบเอกสารเงินยืม ติดตามเงินยืมและตัดยอดเงินยืม ดังนั้น แม้จำเลยจะจัดทำเอกสารเกี่ยวกับงานการเงินในหน้าที่รับผิดชอบของจำเลยไม่ตรงกับความเป็นจริงและใช้หรืออ้างเอกสารดังกล่าวเสนอต่อผู้บังคับบัญชา ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 264 ฐานปลอมเอกสาร มาตรา 268 ฐานใช้เอกสารปลอม และมาตรา 137 ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน เพราะจำเลยเป็นผู้บันทึกข้อความลงในเอกสารต่าง ๆ ด้วยตนเอง โดยจำเลยมิได้เป็นผู้แจ้งข้อความดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานอื่นแต่อย่างใด
              โฉนดอยู่ในความครอบครองของผู้อื่น แต่ไปแจ้งว่าโฉนดหายเพื่อนำบันทึกคำแจ้งความไปขอออกโฉนดใหม่ ผิดฐานแจ้งความเท็จ
             คำพิพากษาศาลฎีกาที่  19287/2555  จำเลยเป็นเพียงผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนโจทก์ การที่จำเลยรู้อยู่แล้วว่าโฉนดที่ดินพิพาทอยู่ในความครอบครองของโจทก์มิได้สูญหาย แต่กลับไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าโฉนดที่ดินพิพาทสูญหาย แล้วนำบันทึกคำแจ้งความไปขอออกใบแทนโฉนดที่ดินแล้วโอนขายที่ดินพิพาทให้บุคคลภายนอก เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 137 และโจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายเป็นพิเศษในการกระทำความผิดดังกล่าว มีอำนาจฟ้องคดีได้
              ยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับในคดีส่วนแพ่งอันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งในศาล จึงมิใช่เป็นเรื่องการแจ้งความแก่เจ้าพนักงาน คำร้องดังกล่าวถึงแม้เป็นความเท็จ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เข้าลักษณะความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 137
             คำพิพากษาศาลฎีกาที่  15508/2555  การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล ถือว่าศาลทำหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานในการยุติธรรมในการพิจารณาคดี มิได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานอย่างเจ้าพนักงานทั่วไป การที่จำเลยทั้งสองกับพวกยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับในคดีส่วนแพ่งอันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งในศาล จึงมิใช่เป็นเรื่องการแจ้งความแก่เจ้าพนักงาน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เข้าลักษณะความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 137
              สิทธิของผู้ต้องหาจะให้การหรือไม่ให้การเลยก็ได้ ไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ แต่ถ้าได้แจ้งความเท็จไว้แก่เจ้าพนักงานก่อนจะตกเป็นผู้ต้องหาในภายหลัง จึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137
              คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5346/2540  จำเลยแจ้งข้อความต่อพนักงานสอบสวนขณะปฏิบัติหน้าที่ร้อยเวรสอบสวน อันเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ว่า"ภายหลังเกิดเหตุรถชนกันแล้ว ผู้ขับขี่รถสามล้อเครื่องได้หลบหนีไป" ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงแล้วคนขับรถสามล้อเครื่องยังคงอยู่ในที่เกิดเหตุ การกระทำของจำเลยน่าจะทำให้พนักงานสอบสวน หรือประชาชนเสียหาย แม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ผู้ต้องหาจะให้การหรือไม่ให้การเลยก็ได้ เป็นสิทธิของผู้ต้องหาก็ตามแต่ได้ความจากคำร้องขอผัดฟ้องและฝากขังว่า พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอผัดฟ้องและฝากขังจำเลยเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2539 โดยระบุในคำร้องดังกล่าวว่าจำเลยถูกจับเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2539 และถูกกล่าวหาว่าขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนทรัพย์สินผู้อื่นเสียหายไม่หยุดให้การช่วยเหลือ ไม่แสดงตนและแจ้งเหตุต่อเจ้าหน้าที่ใกล้เคียง และแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นเสียหาย อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4), 78, 157, 160 วรรคหนึ่ง และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 177 การที่จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวตามฟ้องแก่เจ้าพนักงานในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2539 จึงเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเช่นนั้นแก่เจ้าพนักงานก่อนจำเลยถูกสอบสวนว่าได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 หรือไม่ มิใช่เป็นการให้การของจำเลยในฐานะผู้ต้องหาในความผิดดังกล่าวต่อพนักงานสอบสวนอันจะทำให้จำเลยไม่มีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137
              สิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญาจะให้การหรือไม่ให้การเลยก็ได้ ไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ แต่การที่จำเลยแจ้งความเท็จและแสดงบัตรประจำตัวประชาชนของ ธ. เพื่อให้ร้อยตำรวจโท ด. หลงเชื่อว่าจำเลยเป็น ธ. ในเรื่องการผิดเงื่อนไขการคุมประพฤติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการให้การและใช้สิทธิในขั้นตอนการทำคำให้การที่จำเลยเป็นผู้ต้องหาตาม ป.วิ.อ. การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137, 267, 367
              คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7123/2557  ป.วิ.อ. ได้บัญญัติถึงอำนาจและหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในชั้นแจ้งข้อหาตามมาตรา 134 ซึ่งความในวรรคหนึ่งกำหนดให้พนักงานสอบสวนต้องถามชื่อตัว ชื่อรอง ชื่อสกุล สัญชาติ บิดามารดา อายุ อาชีพ ที่อยู่ที่เกิดของผู้ต้องหาเป็นประการแรก ต่อจากนั้นจึงแจ้งให้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหา แล้วจึงแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบ รวมทั้งให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อหาและแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ตน ดังนั้น เมื่อเริ่มทำการสอบสวนพนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบถามข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับตัวผู้ต้องหา ผู้ต้องหามีหน้าที่ให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตนเองตามบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมีสภาพบังคับทางอาญาดังที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 367 ภายใต้หลักเกณฑ์ที่พนักงานสอบสวนต้องให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อกล่าวหาและแสดงข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์แก่ตนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 วรรคสี่เพื่อให้การสอบสวนดำเนินต่อไปได้ถูกต้องและชอบธรรม ส่วนการถามคำให้การผู้ต้องหาอันเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง ซึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 134/4 บัญญัติให้เป็นหน้าที่พนักงานสอบสวนต้องแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบถึงสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ รวมทั้งสิทธิในการให้ทนายความและบุคคลที่ผู้ต้องหาไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำ ซึ่งเป็นขั้นตอนเมื่อผ่านการแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาแล้ว ไม่อาจแปลความไปถึงขนาดให้สิทธิผู้ต้องหาที่จะจะปฏิเสธอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนเมื่อเริ่มทำการสอบสวนดังกล่าวข้างต้น จำเลยแจ้งความเท็จและแจ้งให้ร้อยตำรวจโท ด. เจ้าพนักงานสอบสวนจดข้อความอันเป็นเท็จลงในบันทึกคำให้การของจำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องหาในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นว่าจำเลยเป็น ธ. ซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้ว หลังจากนั้นเมื่อพนักงานสอบสวนเรียกตัวจำเลยไปสอบถามเนื่องจากจำเลยผิดเงื่อนไขการคุมความประพฤติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยแจ้งความเท็จและแสดงบัตรประจำตัวประชาชนของ ธ. เพื่อให้ร้อยตำรวจโท ด. หลงเชื่อว่าจำเลยเป็น ธ. จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการให้การและใช้สิทธิในขั้นตอนการทำคำให้การที่จำเลยเป็นผู้ต้องหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134/4 (1) การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137, 267, 367
              แจ้งข้อความต่อผู้อำนวยการเลือกตั้งโดยปกปิดเรื่องที่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน แต่ผลจาก พ.ร.บ.ล้างมลทินฯออกใช้บังคับ มีผลให้ถือว่าจำเลยไม่เคยถูกลงโทษหรือได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษามาก่อน จึงไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ
              คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2187/2554   วันที่จำเลยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นวันภายหลังจากที่ พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ออกใช้บังคับ ดังนี้ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพตามฟ้องอันฟังได้ว่า จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อผู้อำนวยการเลือกตั้ง โดยปกปิดเรื่องที่จำเลยเคยได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา แต่โดยผลของ พ.ร.บ.ดังกล่าวถือว่าจำเลยไม่เคยถูกลงโทษหรือได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษามาก่อน จำเลยจึงมิใช่บุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 45 (5) แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 การกระทำของจำเลยย่อมไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งหรือประชาชน กรณีไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยย่อมยกขึ้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4
              จำเลยรู้ดีว่ามิได้มีการกระทำผิดในข้อหาลักทรัพย์เกิดขึ้น แต่กลับไปแจ้งความแก่พนักงานสอบสวนว่าได้มีการกระทำผิดข้อหาลักทรัพย์อันเป็นเท็จเพื่อให้พนักงานสอบสวนเชื่อว่าได้มีความผิดข้อหาลักทรัพย์เกิดขึ้น เพื่อให้โจทก์ร่วมได้รับโทษ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 137, 174 วรรคสอง ประกอบมาตรา 173 และยังผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมอีกด้วย
              คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8611/2553  การที่จำเลยยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยเห็นโจทก์ร่วมหยิบเอาเศษสร้อยคอทองคำของจำเลยไปและไปและได้แจ้งความแก่พนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีโจทก์ร่วมในข้อหาลักทรัพย์ซึ่งเป็นข้อความอันเป็นเท็จ โดยจำเลยรู้ดีว่ามิได้มีการกระทำผิดในข้อหาลักทรัพย์เกิดขึ้น แต่กลับไปแจ้งความแก่พนักงานสอบสวนดังกล่าวว่าได้มีการกระทำผิดข้อหาลักทรัพย์อันเป็นเท็จเพื่อให้พนักงานสอบสวนเชื่อว่าได้มีความผิดข้อหาลักทรัพย์เกิดขึ้น เพื่อให้โจทก์ร่วมได้รับโทษ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 137, 174 วรรคสอง ประกอบมาตรา 173 นอกจากนี้ จำเลยยังมีเจตนายังมีเจตนาแจ้งความเพื่อให้โจทก์ร่วมถูกดูหมิ่นเกลียดชังและเสียชื่อเสียง จึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมอีกด้วย
              แจ้งความร้องทุกข์ไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ส่วนการกระทำจะเป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่แจ้งหรือไม่ม่สำคัญ การแจ้งความย่อมหมายถึงเฉพาะข้อเท็จจริงไม่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย ไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ
              คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5236/2549  ข้อความที่จำเลยแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนตรงตามสภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่จำเลยแจ้งความตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ส่วนการกระทำของโจทก์ทั้งสองจะเป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่จำเลยแจ้งหรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะการแจ้งความย่อมหมายถึงเฉพาะข้อเท็จจริงไม่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย แม้ต่อมาพนักงานสอบสวนจะได้ดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสองตามที่จำเลยแจ้ง และพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีโจทก์ทั้งสองก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าข้อความที่จำเลยแจ้งนั้นเป็นความเท็จ
              จำเลยให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่าเป็นโสดไม่เคยมีคู่สมรส(อันเป็นความเท็จ)ไม่ว่าจะชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการแจ้งความอันเป็นเท็จอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137
              คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8739/2552  จำเลยซื้ออาคารชุดอุรุพงษ์คอนโดในระหว่างสมรสกับโจทก์ อาคารชุดดังกล่าวจึงเป็นสินสมรส ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) และมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีจำนองอสังหาริมทรัพย์ หากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียวหรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ การที่จำเลยให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่าเป็นโสดไม่เคยมีคู่สมรสไม่ว่าจะชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการแจ้งความอันเป็นเท็จอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137
              เมื่ออาคารชุดอุรุพงษ์คอนโดเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลย อำนาจการจัดการจำนองอาคารชุดดังกล่าวจึงเป็นของโจทก์และจำเลยร่วมกัน แม้จำเลยจะมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียวจำเลยก็ไม่มีอำนาจทำนิติกรรมโดยโจทก์ไม่ยินยอม การที่จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานที่ดินดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหา


    Please login for write message