0
สมาชิก
ค้นฎีกา
ศาลยุติธรรม
กระทรวงยุติธรรม
สภาทนายความ
กรมที่ดิน
กรมบังคับคดี
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
เกี่ยวกับสำนักงาน บริการของเรา ทนายความ ดาวน์โหลดกฏหมาย ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม
สถิติเว็บไซต์
เปิดเว็บเมื่อ : 2013-01-07
จำนวนสมาชิก : 438 คน
ปรับปรุงเมื่อ : 2024-04-17
จำนวนครั้งที่ชม : 7,608,217 ครั้ง
Online : 64 คน
Photo

    นิติกรรมอำพราง ป.พ.พ.155


    ทนายกาญจน์
    (Admin)
    เมื่อ » 2023-06-03 15:05:38 (IP : , ,49.49.235.58 ,, Admin)
    Isranews - ดุลยพินิจของผู้บริหารกับการทำนิติกรรมสัญญา
    หลักเกณฑ์การเกิดนิติกรรมอำพราง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 มีสาระสำคัญอย่างไร
    ศึกษาวิเคราะห์จากฎีกาที่ 10834/2556
    ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง เจตนาลวง
    มาตรา 155 วรรคสอง นิติกรรมอำพราง
     นิติกรรมอำพราง ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสองนั้น คู่กรณีจะต้องแสดงเจตนาทำนิติกรรมขึ้นสองนิติกรรม คือ นิติกรรมหนึ่งแสดงให้ปรากฏออกมาโดยเปิดเผย คู่กรณีไม่ประสงค์จะให้มีผลบังคับอย่างใดตามกฎหมาย ส่วนอีกนิติกรรมหนึ่งเป็นนิติกรรมที่ไม่เปิดเผยเรียกว่านิติกรรมที่ถูกอำพรางปกปิดไว้ โดยคู่กรณีประสงค์จะให้นิติกรรมที่อำพรางปกปิดไว้นั้นใช้บังคับระหว่างกันเองได้ไม่ต้องการผลบังคับจากนิติกรรมที่แสดงให้ปรากฏออกมา แม้คู่กรณีในเรื่องนิติกรรมอำพรางจะต้องมีเพียงคู่เดียวก็ตามแต่คดีนี้โจทก์เป็นสามีของ อ. ผู้กู้ทั้งยังเป็นผู้ค้ำประกันในสัญญากู้เงินซึ่ง อ. ก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำแลยว่า โจทก์มีความประสงค์ต้องการใช้เงินแสดงว่าโจทก์มีส่วนได้เสียในเงินกู้ดังกล่าวด้วย การที่โจทก์และ อ. ทำนิติกรรมดังกล่าวจึงมีผลประโยชน์ร่วมกันและถือได้ว่าเป็นฝ่ายเดียวกัน ดังนี้ แม้คู่กรณีในนิติกรรมขายฝากจะเป็นนิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลย ส่วนนิติกรรมการกู้ยืมเป็นนิติกรรมระหว่าง อ. กับจำเลยก็ถือได้ว่าคู่กรณีในนิติกรรมทั้งสองนิติกรรมนั้นเป็นคู่กรณีเดียวกัน ฟังได้ว่านิติกรรมขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ต้องบังคับตามสัญญาเงินกู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง
    หมายเหตุ
    1. หลักเกณฑ์ของการใช้มาตรา 155
    1.1 การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งตกเป็นโมฆะ.....
    1.2 การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง หมายถึง คู่กรณีทั้งสองฝ่ายไม่ประสงค์จะให้เจตนาที่ได้แสดงออกมานั้น มีผลผูกพันกันตามกฎหมายอย่างแท้จริงแต่กระทำไปเพื่อให้บุคคลอื่นเข้าใจว่า มีนิติกรรมนั้นเกิดขึ้นจริงโดยมีความประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง การแสดงเจตนาดังกล่าวตกเป็นโมฆะ เพราะถือว่าเป็นเจตนาลวง ตามมาตรา 155 วรรคหนึ่ง ให้ศึกษาจากฎีกาต่อไปนี้
    คำพิพากษาฎีกาที่ 6886/2542      
    ป.พ.พ. มาตรา 11, 155, 171, 863, 875 
       วัตถุประสงค์แห่งสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยย่อมมุ่งประสงค์ไปที่การประกันภัยรถยนต์คันที่โจทก์เป็นผู้เช่าซื้อตลอดระยะเวลาที่เช่าซื้อเป็นสำคัญยิ่งกว่าวันเริ่มต้นแห่งสัญญาประกันภัยที่พิมพ์เป็นตัวอักษรไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย แม้สัญญาเช่าซื้อจะระบุวันเริ่มต้นแห่งสัญญาหลังวันเริ่มต้นแห่งสัญญาประกันภัยเป็นเวลา 9 วันก็เป็นช่วงเวลาที่เหลื่อมกันเพียงเล็กน้อย การตีความวันทำสัญญาประกันภัยดังกล่าวย่อมต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญายิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 171 กรณีนี้จึงต้องตีความว่าสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยได้กระทำขึ้น ณ วันแรกที่โจทก์ มี ฐานะเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์คันที่โจทก์เอาประกันภัยไว้แก่จำเลย ซึ่งการตีความเช่นนี้ยังสอดคล้องกับหลักการตีความสัญญาในกรณีที่มีข้อสงสัย ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11 ให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่โจทก์ซึ่งเป็นคู่กรณีฝ่ายที่จะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้นด้วยกรณีถือได้ว่าโจทก์ผู้เอาประกันภัยเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยขณะทำสัญญาประกันภัยกับจำเลยแล้ว สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงผูกพันคู่ความทั้งสองฝ่าย เมื่อไม่ปรากฏว่าบริษัท ย. ผู้ให้เช่าซื้อได้แสดงเจตนาเข้ารับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยดังกล่าว โจทก์ผู้เอาประกันภัยจึงยังคงเป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยจากจำเลยผู้รับประกันภัยเมื่อเกิดวินาศภัยขึ้นตามสัญญา โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้   แม้ตามกรมธรรม์ประกันภัยจะระบุให้กรมธรรม์ประกันภัยสิ้นผลบังคับเมื่อผู้เอาประกันภัยได้โอนรถยนต์ให้บุคคลอื่น แต่การที่โจทก์ทำสัญญาโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้ พ. ภริยาโจทก์ไปเพราะต้องการบัตรติดรถยนต์สำหรับใช้ทางลัดผ่านเข้าออกกองทัพอากาศเท่านั้น แต่หลังจากที่โอนสิทธิการเช่าซื้อดังกล่าวไป โจทก์ก็ยังคงเป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันที่เอาประกันภัยและเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อตลอดมา ดังนี้ เห็นได้ว่าโจทก์กับ พ. ภริยาโจทก์มิได้มีเจตนาโอนสิทธิการเช่าซื้อกันจริง การโอนเป็นเพียงเจตนาลวงเพื่อให้ได้มาซึ่งบัตรติดรถยนต์สำหรับใช้ทางลัดผ่านเข้าออกกองทัพอากาศได้เท่านั้น สัญญาโอนสิทธิการเช่าซื้อดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะเสียเปล่ามาแต่ต้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง โจทก์ยังคงมีฐานะ เป็นผู้เช่าซื้อที่แท้จริงตลอดมาและยังคงมีสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยนั้นอยู่เช่นเดิม และแม้หากจะฟังว่าโจทก์ได้โอนสิทธิการเช่าซื้อดังกล่าวไป แต่การโอนสิทธิการเช่าซื้อก็ไม่ใช่การโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อให้บุคคลอื่นตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ผู้รับโอนสิทธิการเช่าซื้อยังคงมีสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว กรมธรรม์ประกันภัยนั้นจึงยังไม่สิ้นผลบังคับไป
    คำพิพากษาฎีกาที่ 2041/2547      
    ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง, 172, 237, 240, 456 วรรคสอง
    ป.วิ.พ. มาตรา 145 
              จำเลยที่ 1 ตกลงขายที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยได้มีการส่งมอบที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองเข้าซ่อมแซมครอบครองตลอดมา อันเป็นการชำระหนี้บางส่วน ข้อตกลงจะซื้อจะขายที่ดินและบ้านพิพาทจึงมีผลผูกพันบังคับต่อกันได้แล้ว
              จำเลยทั้งสองสมคบกันจดทะเบียนโอนซื้อขายที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตและไม่มีการชำระเงินกันจริง จำเลยที่ 2 ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทที่แท้จริง การแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองในทางทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินพิพาท จึงเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กันเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 ก็ได้ โจทก์ทั้งสองชอบที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนเมื่อใดก็ได้ ฟ้องโจทก์ทั้งสองมิใช่การฟ้องขอเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องฟ้องภายใน 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240
    2. นิติกรรมอำพราง คือ การแสดงเจตนาลวงตามมาตรา 155 วรรคหนึ่ง ทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่น ต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพราง
    2.1 นิติกรรมอำพรางจะต้องมีนิติกรรมสองนิติกรรม คือ นิติกรรมอันแรกจะแสดงออกมาโดยเปิดเผย ซึ่งเป็นนิติกรรมซึ่งไม่ตรงกับเจตนาที่แท้จริงของคู่กรณี จึงเป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้ระหว่างคู่กรณี นิติกรรมที่แสดงออกมาจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 155 วรรคหนึ่ง ส่วนอีกนิติกรรมหนึ่งเป็นนิติกรรมที่ไม่เปิดเผยเรียกว่านิติกรรมที่ถูกอำพราง ซึ่งตรงกับเจตนาที่แท้จริงของคู่กรณีและคู่กรณีประสงค์ให้ใช้บังคับระหว่างกันเอง
    2.2  ในเรื่องนิติกรรมอำพราง มีฎีกาที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
    คำพิพากษาฎีกาที่ 5236/2542      
    ป.พ.พ. มาตรา 150, 155 วรรคสอง 
       สัญญาเช่าที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 มีวัตถุประสงค์ก่อสร้างโรงงานและที่พักอาศัย เมื่อกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 116 ซึ่งออกตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการผังเมืองฯ ไม่ได้กำหนดห้ามมิให้ก่อสร้างโรงงานเด็ดขาดทั้งจำเลยที่ 2 ได้ติดต่อกระทรวงอุตสาหกรรมจนได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างโรงงานในพื้นที่ดังกล่าวแล้วจึงถือไม่ได้ว่าสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงไม่ตกเป็นโมฆะโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ได้   นิติกรรมอำพรางตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคสอง เป็นเรื่องที่คู่กรณีแสดงเจตนาทำนิติกรรมขึ้นสองนิติกรรม นิติกรรมหนึ่งแสดงให้ปรากฏออกมาโดยไม่ประสงค์จะให้มีผลบังคับตามกฎหมาย ส่วนอีกนิติกรรมหนึ่งอำพรางปกปิดไว้โดยคู่กรณีประสงค์จะให้นิติกรรมที่อำพรางปกปิดไว้นั้นใช้บังคับระหว่างกันเองได้คู่กรณีในเรื่องนิติกรรมอำพรางจึงมีอยู่เพียงคู่เดียว ดังนั้น สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และสัญญาเช่าช่วงระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 แม้จะทำในวันเดียวกัน แต่เมื่อคู่กรณีเป็นคนละคู่กันจึงไม่มีทางที่จะเป็นนิติกรรมอำพรางตามความหมายของกฎหมายได้
    คำพิพากษาฎีกาที่ 4686/2552      
    ป.พ.พ. มาตรา 155 
              เมื่อสัญญาขายฝากที่ดินเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงินจึงเป็นนิติกรรมที่ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง จำเลยจะขอให้บังคับโจทก์ทั้งสองชำระเงินตามราคาขายฝากที่ดินเป็นต้น เงินกู้ไม่ได้ แต่ต้องบังคับตามนิติกรรมการกู้ยืมเงินที่ถูกอำพรางไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง โดยถือเพียงว่าสัญญาขายฝากที่ดินเป็นหลักฐานว่าโจทก์ทั้งสองได้กู้ยืมเงินจากจำเลย และโจทก์ทั้งสองได้มอบโฉนดที่ดินของตนให้จำเลยยึดถือไว้เป็นหลักประกันเงินกู้เท่านั้น สำหรับการขายฝากที่ดินระหว่างโจทก์ทั้งสองและจำเลยเมื่อตกเป็นโมฆะดังวินิจฉัยแล้ว ศาลชอบที่จะพิพากษาให้เพิกถอนเสียได้โดยจำเลยยังคงยึดถือโฉนดที่ดินของโจทก์ทั้งสองไว้ได้จนกว่าโจทก์ทั้งสองจะชำระเงินกู้และดอกเบี้ยแก่จำเลยครบถ้วน
     
    ฎีกาที่ 1335/2561 นิติกรรมอำพราง ป.พ.พ.มาตรา 155
       การพิจารณาว่าคู่สัญญาได้แสดงเจตนาลวงทำนิติกรรมขึ้นเพื่อเป็นการอำพรางนิติกรรม อื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๕ วรรคสอง หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากพฤติการณ์แห่งคดีและนิติกรรมที่คู่สัญญาทำขึ้นโดยเปิดเผยเพื่อแสดงต่อบุคคลทั่วไปเป็นสำคัญ โดยหาจำต้องพิจารณาว่าคู่สัญญามีการทำนิติกรรมที่แสดงเจตนาที่แท้จริงไว้ต่อกันอีกฉบับหนึ่งไม่ เพราะหากมีการทำนิติกรรมที่แสดงเจตนาที่แท้จริงไว้แล้ว ก็จะไม่มีปัญหาให้พิจารณาเรื่องนิติกรรมอำพราง เพราะคู่สัญญาสามารถนำนิติกรรมที่ทำไว้ต่างหากและเป็นการแสดงเจตนาที่แท้จริงมาฟ้องร้องบังคับคดีกันได้โดยตรง
                   โจทก์และจำเลยมีเจตนาทำสัญญากู้ยืมเงินกันมาตั้งแต่ต้น มิได้มีเจตนาที่จะทำสัญญาขายที่ดินกันจริง สัญญาขายที่ดินตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๕ วรรคหนึ่ง และเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์โดยให้ที่ดินแก่โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกัน และถือได้ว่าสัญญาขายที่ดินเป็นนิติกรรมสัญญากู้ยืมเงินที่ทำเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างโจทก์กับจำเลยและถูกอำพรางไว้ ต้องบังคับตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๕ วรรคสอง เมื่อสัญญาขายที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะ จึงต้องเพิกถอนเป็นผลให้ที่ดินพิพาทยังเป็นของจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องขับไล่จำเลย
    ตามฎีกานี้ วันที่ในสัญญาจะซื้อจะขายคืนเป็นวันเดียวกับวันที่โอนกรรมสิทธิ์ ในราคารวมที่ดินทั้งสองแปลงเป็นเงิน ๒,๔๒๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเท่ากับเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยซึ่งเป็นราคาที่ให้ซื้อคืน จึงเจือสมกับพยานหลักฐานจำเลยที่ว่าการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินทั้งสองแปลงเป็นเพียงหลักประกันการกู้ยืมเงินไม่มีการซื้อขายกันจริง ประกอบกับนับตั้งแต่โจทก์ซื้อที่ดินทั้งสองแปลงและบ้าน โจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินพิพาท คงให้จำเลยและบริวารอาศัยและประกอบกิจการร้านค้าอยู่ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตลอดมา 
     
    เพิ่มเติม
                   นิติกรรมที่ถูกอำพรางจะต้องเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์ คือมีองค์ประกอบครบถ้วน และองค์ประกอบแต่ละข้อจะต้องไม่บกพร่องด้วย นิติกรรมที่ถูกอำพรางจะมีผลใช้บังคับก็ต่อเมื่อได้ทำตามแบบ แต่แนวคำพิพากษาศาลฎีกาในปัจจุบัน พยายามช่วยให้นิติกรรมที่ถูกอำพรางมีผลบังคับใช้ได้โดยอาศัยหลักโมฆะแปลงรูปเข้ามา รวมทั้งการอนุโลมเอาแบบของนิติกรรมที่ถูกเปิดเผยมาใช้ ดูฎีกาที่ ๖๓๔๒/๒๕๕๒ และ ๑๘๗๑/๒๕๔๙
                   ฎีกาที่ ๖๓๔๒/๒๕๕๒ ท. มีเจตนายกที่ดินให้แก่จำเลยแต่จดทะเบียนนิติกรรมเป็นการขาย ถือได้ว่าการจดทะเบียนนิติกรรมขายที่ดินเป็นการอำพรางนิติกรรมให้ นิติกรรมขายที่ดินย่อมเป็นการแสดงเจตนาด้วย สมรู้กันระหว่างคู่กรณี ย่อมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๕๕ วรรคหนึ่ง ส่วนนิติกรรมให้ต้องบังคับบทบัญญัติของกฎหมายที่ถูกอ่าพรางตามมาตรา ๑๕๕ วรรคสอง การที่ ท. จดทะเบียนนิติกรรมขายมีวัตถุประสงค์ในการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน คือที่ดินเช่นเดียวกับนิติกรรมให้ต่างกันเพียงว่ามีค่าตอบแทนแก่กันหรือไม่เท่านั้น ย่อมถือได้ว่าการจดทะเบียนขายดังกล่าวเป็นการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนสำหรับการให้ที่ถูกอำพรางด้วยโดยอนุโลมนิติกรรมการให้ที่ดินระหว่าง ท. และจำเลย จึงไม่เป็นโมฆะและมีผลบังคับตามมาตรา ๑๕๕ วรรคสอง
                   ฎีกาที่ ๑๘๗๑/๒๕๔๙ การที่นิติกรรมอันหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอีกอันหนึ่ง นิติกรรมอันแรกคือบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวม (มีค่าตอบแทน) ย่อมเป็นการแสดงเจตนาลวงด้วย สมรู้กันระหว่างคู่กรณี นิติกรรมดังกล่าวย่อมเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๕ วรรคแรก ส่วนนิติกรรมที่ถูกอำพรางคือสัญญาให้ต้องบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ถูก อาพราง ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๕ วรรคสอง การที่ ผ. จดทะเบียนข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวม (มีค่าตอบแทน) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเช่นเดียว กับนิติกรรมให้ ย่อมถือได้ว่าการจดทะเบียนข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมดังกล่าวเป็นการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนสำหรับนิติกรรมการให้ที่ถูกอำพรางด้วย นิติกรรมการ ยกที่ดินให้ระหว่าง ผ. กับจำเลยจึงไม่เป็นโมฆะ
     



    Please login for write message