0
สมาชิก
ค้นฎีกา
ศาลยุติธรรม
กระทรวงยุติธรรม
สภาทนายความ
กรมที่ดิน
กรมบังคับคดี
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
เกี่ยวกับสำนักงาน บริการของเรา ทนายความ ดาวน์โหลดกฏหมาย ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม
สถิติเว็บไซต์
เปิดเว็บเมื่อ : 2013-01-07
จำนวนสมาชิก : 451 คน
ปรับปรุงเมื่อ : 2024-09-07
จำนวนครั้งที่ชม : 8,289,200 ครั้ง
Online : 173 คน
Photo

    การรับมรดกแทนที่ VS การสืบมรดก


    ทนายกาญจน์
    (Admin)
    เมื่อ » 2024-05-17 12:26:36 (IP : , ,171.6.227.108 ,, Admin)
    Admin Edit : 2024-05-17 12:27:25
     
    การรับมรดกแทนที่VSการสืบมรดก 
    เมื่อทายาทโดยธรรมตายหรือถูกกกำจัดมิให้รับมรดกย่อมมีการรับมรดกแทนที่หรือการสืบมรดก ซึ่งโดยหลักแล้วผู้สืบสันดานของทายาทผู้นั้นจะเข้ารับมรดกแทนที่ได้ต่อเมื่อทายาทผู้นั้นตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย แต่หากทายาทผู้นั้นตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกภายหลังเจ้ามรดกตายผู้สืบสันดานของทายาทผู้นั้นต้องรับมรดกในฐานะผู้สืบสันดานหรือสืบมรดกทายาทนั้นแล้วแต่กรณี และในกรณีที่ทายาทสละมรดกผู้สืบสันดานก็มีสิทธิสืบมรดกทายาทนั้นได้ ซึ่งกรณีใดที่จะต้องรับมรดกแทนที่กรณีใดต้องสืบมรดกแบ่งได้ ดังนี้
    1.กรณีที่ต้องรับมรดกแทนที่ตามตรา 1639
    1.1 กรณีทายาทตายก่อนเจ้ามรดก
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7458/2553 ก. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ ย. โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ ก. เมื่อ ก. ถึงแก่ความตายก่อน ย. โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ย่อมมีสิทธิรับมรดกแทนที่ ก. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1639 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 จึงเป็นทายาทของ ย.
    1.2 กรณีทายาทถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดก แบ่งได้เป็น 3 กรณี ดังนี้
    ก)กรณีถูกกำจัดมิให้รับมรดกเนื่องจากทายาทนั้นเป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าพยายามฆ่าเจ้ามรดกหรือผู้มีสิทธิรับมรดกก่อนตนตามมาตรา 1606(1)
    ข)กรณีถูกกำจัดมิให้รับมรดกเนื่องจากทายาทนั้นเป็นผู้ที่ได้ฟ้องเจ้ามรดกหาว่าทำความผิดโทษประหารชีวิตและตนเองกลับต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่า มีความผิดฐานฟ้องเท็จหรือทำพยานเท็จตามมาตรา 1606(2)
    ค)กรณีถูกกำจัดมิให้รับมรดกเนื่องจากทายาทนั้นเป็นผู้ที่ฉ้อฉลหรือข่มขู่ให้เจ้ามรดกทำ หรือเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมดซึ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดก หรือไม่ให้กระทำการดังกล่าวนั้นตามตรา 1606(4)
    ข้อสังเกตเกี่ยวกับผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะรับมรดกแทนที่ได้
    -ผู้สืบสันดานที่รับมรดกแทนที่ได้นั้น หมายถึง ผู้สืบสันดานโดยตรงเท่านั้น(มาตรา 1643) ซึ่งหมายถึง ผู้สืบสันดานในทางสายโลหิตโดยแท้จริง ดังนั้น บุตรบุญธรรมจึงไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ผู้รับบุตรบุญธรรม
     
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2495/2540 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1643 ที่กำหนดให้สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรงนั้นหมายความถึงผู้สืบสันดานโดยสายโลหิตอันแท้จริงเท่านั้นส่วนบุตรบุญธรรมแม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1627 จะให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายก็ตามก็หมายความเพียงว่าบุตรบุญธรรมเป็นทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1629(1)และมีสิทธิได้รับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมเท่านั้นหามีผลทำให้บุตรบุญธรรมมีสิทธิรับมรดกแทนที่ผู้รับบุตรบุญธรรมด้วยไม่เพราะไม่ใช่เป็นผู้สืบสันดานโดยตรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1643 ดังนั้น เมื่อผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมของ จ. ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับเจ้ามรดกและ จ. ถึงแก่ความตายไปก่อนเจ้ามรดกแล้วเช่นนี้ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกแทนที่ จ. ได้เพราะผู้ร้องไม่ใช่ผู้สืบสันดานโดยตรงของ จ. ผู้ร้องจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกในอันที่จะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1713
     
    -แต่บุตรของบุตรบุญธรรมมีสิทธิรับมรดกแทนที่บุตรบุญธรรมได้
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 290/2494 บุตรบุญธรรมตายก่อนผู้รับบุตรบุญธรรม บุตรของบุตรบุญธรรมย่อมมีสิทธิรับมรดกแทนที่กันได้ตามสิทธิที่กฎหมายให้ไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1639
    -แม้บุตรบุญธรรมจะรับมรดกแทนที่ผู้รับบุตรบุญธรรมไม่ได้ แต่บุตรบุญธรรมยังสืบมรดกได้ตามมาตรา 1607,1615
    -บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วตามมาตรา 1627 ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานทางสายโลหิตของบิดาจึงรับมรดกแทนที่ได้
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 381/2538 ม. และโจทก์ที่ 1 ได้แสดงความเกี่ยวข้องฉันบิดากับบุตรโดยให้ความอุปการะเลี้ยงดูให้ใช้นามสกุลเดียวกันเป็นพฤติการณ์ที่รู้กันโดยทั่วไปตลอดมาว่าโจทก์ที่ 1 เป็นบุตร โจทก์ที่ 1 จึงเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกของ ม. แต่เมื่อ ม. ซึ่งเป็นบุตรของเจ้ามรดกตายไปก่อนเจ้ามรดกโจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกแทนที่ ม. ได้
    2.กรณีที่จะต้องสืบมรดก
    2.1กรณีทายาทตายหลังเจ้ามรดกผู้สืบสันดานเข้ารับมรดกตามมาตรา 1629(1)
     
    2.2กรณีทายาทถูกกำจัดมิให้รับมรดกหลังเจ้ามรดกตาย ผู้สืบสันดานสืบมรดกตามมาตรา 1607 แบ่งเป็น 3 กรณี ดังนี้
    ก)กรณีถูกกำจัดมิให้รับมรดกเนื่องจากทายาทยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกตามตรา 1605
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 478/2539 แม้ ป.พ.พ .มาตรา 1639 บัญญัติให้ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกรับมรดกแทนที่ทายาทนั้นได้ในกรณีที่ทายาทนั้นถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตายเท่านั้นก็ตาม แต่มาตรา 1607 บัญญัติว่า การถูกกำจัดมิให้รับมรดกนั้นเป็นการเฉพาะตัวผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดสืบมรดกต่อไปเหมือนหนึ่งว่าทายาทนั้นตายแล้ว โดยมิได้บัญญัติว่า ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกสืบมรดกต่อไปได้เฉพาะในกรณีที่ทายาทนั้นถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตายเท่านั้น ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกของ บ.เจ้ามรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้และต้องถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกของ บ.เลย อันเป็นการถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกหลังเจ้ามรดกตายก็ตาม บุตรของจำเลยซึ่งเป็นผู้สืบสันดานของจำเลยทายาทผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกของนายบุญช่วยย่อมสืบมรดกของ บ.ต่อไปได้เหมือนหนึ่งว่าจำเลยตายแล้วตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 1607 และบทบัญญัติมาตรา 1607 หาได้อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 1639 ไม่
    ข)กรณีถูกกำจัดมิให้รับมรดกเนื่องจากทายาทนั้นเป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเจตนาฆ่าเจ้ามรดกหรือผู้มีสิทธิรับมรดกก่อนตนตามมาตรา 1606(1)
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8023/2538 ผู้ร้องถูกเจ้าพนักงานตำรวจ จับกล่าวหาว่า ผู้ร้องเป็นผู้ยิงเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ต่อมาผู้ร้องถูกส่งฟ้องต่อศาลในข้อหาดังกล่าวซึ่งผู้ร้องให้การปฏิเสธ คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ดังนั้น ถ้าหากต่อมามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้ร้องได้เจตนากระทำให้เจ้ามรดกถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องก็เป็นบุคคลที่ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1606(1) ซึ่งเป็นการถูกกำจัดมิให้รับมรดกภายหลังเจ้ามรดกถึงแก่ความตายกรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1639 ที่ผู้สืบสันดานของผู้ร้องจะมีสิทธิรับมรดกแทนที่ผู้ร้อง
    ค)กรณีถูกกำจัดมิให้รับมรดกเนื่องจากทายาทนั้นเป็นผู้ที่รู้แล้วว่า เจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนา แต่มิได้นำข้อความนั้นขึ้นร้องเรียนเพื่อเป็นทางที่จะเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ตามมาตรา 1606(3)
    2.3กรณีทายาทสละมรดก ผู้สืบสันดานของทายาทผู้นั้นสืบมรดกได้ตามตรา 1615
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3961 - 3962/2528 มารดาของจำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับโจทก์และเจ้ามรดก เมื่อมารดาจำเลยสละมรดก จำเลยซึ่งเป็นบุตรจึงมีสิทธิ สืบมรดกได้ตามมาตรา 1615 และมีฐานะเป็นทายาทของเจ้ามรดก ในลำดับเดียวกับโจทก์
    ข้อสังเกต กรณีที่ทายาทปลอมพินัยกรรมตามมาตรา 1606(5) ศาลฎีกาใช้ทั้งมาตรา 1607 และมาตรา 1639
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6782/2544 จำเลยปลอมพินัยกรรมของเจ้ามรดก จำเลยจึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดก แต่การถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรนั้นเป็นการเฉพาะตัว บุตรของจำเลยซึ่งไม่ได้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกย่อมสืบมรดกต่อไปได้เหมือนหนึ่งว่าจำเลยตายแล้ว ตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1607, 1639
    ข้อควรระวัง : หากผู้รับพินัยกรรมตายก่อนเจ้ามรดกหรือสละมรดกผู้สืบสันดานของผู้รับพินัยกรรมจะรับมรดกแทนที่หรือสืบมรดกไม่ได้ และในกรณีที่เจ้ามรดกตัดมิให้ทายาทคนได้รับมรดกผู้สืบสันดานของทายาทนั้นก็จะรับมรดกแทนที่หรือสืบมรดกไม่ได้เช่นกัน



    shoes
    Please login for write message